วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่1)

ตอนที่ 1 รู้จัก indicators [ซีรี่ย์การลงทุน 3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค]
Share on Facebook
แนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะมีวิธีหลักๆ ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายอยู่ 2 วิธี คือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) และ การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ก็ไปลองทำแบบทดสอบได้ที่ แบบสำรวจสาย Technical คุณมาถูกทางหรือยัง? ครับ
สำหรับคนที่เลือกวิเคราะห์ทางเทคนิคโดยอาศัยการวิเคราะห์กราฟเพื่อตัดสินใจซื้อขายหุ้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการหาจังหวะในการซื้อขายหุ้นที่ดี เพราะการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้นไม่สามารถใช้หาจังหวะในการซื้อขายได้ ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์กราฟหุ้นทางเทคนิคจะบอกว่าเราควรจะซื้อหุ้นหรือขายหุ้นเมื่อไหร่ ที่ราคาเท่าไหร่
อย่างไรก็ตามเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคเพื่อหาจังหวะซื้อขายหุ้นก็มีอยู่หลายชนิด เช่น แนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคา (Trend) แนวรับ-แนวต้าน (Support & Resistance) รูปกราฟแท่งเทียน (Candlestick) รูปแบบราคา(Chart Patterns) และ  ดัชนีชี้วัด (Indicators ) ซึ่ง Indicators นั้นถือเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมจากนักวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคเป็นอย่างมาก

“อยากวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคเทคนิคให้ได้กำไร ต้องฝึกใช้ Indicators ให้เก่งๆ “ หลายคนที่เป็นมือใหม่คงเคยได้ยินคำพูดหรือคำแนะนำในลักษณะนี้มาก่อน แต่ก็ยังไม่รู้จักว่า Indicators คืออะไร , การใช้ Indicators เพื่อวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคมีประโยชน์อะไรบ้าง และเค้าดูหรืออ่านกราฟของ Indicators กันยังไง แต่สำหรับบางคนที่คุ้นเคยกับการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคมาบ้างแล้ว ก็อาจจะอยากรู้ว่า Indicators ตัวไหนบ้างที่เด่นๆ ใช้งานได้ผลดี หรือมีเคล็ดลับในการใช้งาน Indicators อย่างไรให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
จากข้อสงสัยที่ผมเกริ่นขึ้นมาทั้งหมดข้างต้น ผมมั่นใจว่าผู้อ่านจะได้รับความกระจ่างในทุกประเด็นอย่างแน่นอน จาก Series บทความชุดที่มีชื่อว่า “3 สุดยอด Indicators สำหรับวิเคราะห์กราฟหุ้น”
ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย...



Indicators คืออะไร




ก่อนอื่นต้องบอกว่า ค่าของ Indicators นั้นเกิดจากนำตัวเลขข้อมูลดิบของราคาหรือปริมาณการซื้อขายมาคำนวณด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์หรือสูตรทางสถิติที่คิดค้นขึ้น ทำให้เราได้ตัวเลขใหม่ออกมาเป็นตัวเลขอีกตัวหนึ่ง จากนั้นเราจะนำค่าของ Indicators ที่ได้จากการคำนวณนั้นมาแปลเป็นความหมายเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจในการซื้อขาย
            ผมขอยกตัวอย่างเรื่อง ค่าของ Indicator ที่เกิดจากการเอาข้อมูลดิบมาใส่เป็นสูตร ดังนี้ครับ สมมุติว่า ถ้าเราสนใจ Indicators  ”ค่าเฉลี่ย”  เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจซื้อขายหุ้นตัวหนึ่ง สูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ของ ”ค่าเฉลี่ย” คือ ผลบวกของข้อมูลดิบที่มีหารด้วยจำนวนข้อมูลทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น เรามีข้อมูลดิบของราคาทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ 50, 52, 54, และ 58 จะสามารถคำนวณค่าเฉลี่ยของราคาได้เท่ากับ ((50+52+54+58)/4) = 53.5 ซึ่งจะเป็นตัวแทนของข้อมูลดิบราคาทั้ง 4 ตัวที่เรากำลังให้ความสนใจ จากนั้นเราก็จะนำค่าเฉลี่ยซึ่งเป็น Indicaotrs ที่คำนวณได้ไปทำการวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตัดสินใจตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการต่อไป

วิธีการแสดงค่า Indicators เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและแปลความหมายได้ง่าย
            สำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค ค่าของ Indicators เพียงค่าเดียวนั้นไม่สามารถให้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นได้ ดังนั้นการวิเคราะห์ทางเทคนิคโดยใช้ Indicators จึงต้อง
  1. คำนวณค่าของตัวชี้วัดออกมาหลาย ๆ ตัวป็นชุดและนำมาเรียงต่อเนื่องกัน
  2. แสดงผลออกมาในรูปของกราฟเส้นหรือกราฟแท่งควบคู่กับกราฟของราคาหุ้น เพราะการแสดงผลในรูปของกราฟจะทำให้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนและนำไปแปลความหมายได้ง่ายขึ้น

สำหรับข้อมูลที่แสดงเป็นชุดและเรียงต่อเนื่องกันจะมีประโยชน์ในการแปลความหมายในเชิงเปรียบเทียบ
โดยวิธีวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคด้วยการเปรียบเทียบค่า Indicators จะใช้วิธี
  1. เปรียบเทียบค่าของ Indicators ในช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยดูว่าแนวโน้มของค่า Indicators ตัวนั้นๆ ว่า มีแนวโน้มที่เพิ่มขี้นหรือลดลงจากช่วงก่อนหน้า
  2. เปรียบเทียบระหว่างค่าของ Indicators กับ ราคาหุ้น โดยดูว่าค่าของ Indicators ที่คำนวณได้มีทิศทางการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันหรือทิศทางที่ขัดแย้งกับทิศทางของราคา


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นวิธีการแสดงกราฟของ Indicators 3 ตัวคือ EMA, MACD , และ RSI ที่แสดงค่าเป็นชุดเรียงต่อเนื่องกันและวาดออกมาในรูปของกราฟเส้นและกราฟแท่ง

กราฟและค่าของ Indicators บอกอะไรเรา?
            ค่าของ Indictors เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณผ่านสูตรทางคณิตศาสตร์หรือสูตรทางสถิติ เวลาที่เราเอาค่าของ Indicator หรือกราฟของ Indicator ไปใช้วิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค เราจะแปลความหมายกราฟของ Indicators โดยตั้งคำถามเหล่านี้เพื่อเป็นข้อมูลช่วยประกอบการตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้น
  1. ค่าของ Indicators บอกว่าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นในปัจจุบันอยู่ในทิศทางใดระหว่างขาขึ้น ขาลง ถ้าค่าของ Indicators  หรือกราฟของ Indicators ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันราคาหุ้นยังอยู่ในทิศทางเป็นขาขึ้น แปลว่าราคาหุ้นก็น่าจะยังคงปรับตัวสูงต่อไปได้อีก ดังนั้นหุ้นตัวนั้นๆ เป็นหุ้นที่น่าสนใจเข้าไปหาจังหวะซื้อ หรือถ้ามีหุ้นตัวนั้นอยู่ก็ยังสามารถถือต่อไปได้  (Indicators บอกทิศทางของราคาหุ้น)
  2. ค่าของ Indicators บอกว่าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากหรือน้อย เช่น ปัจจุบันเป็นแนวโน้มขาขึ้นและเป็นแนวโน้มขาขึ้นที่มีความแข็งแกร่งด้วย ก็จะยิ่งเป็นข้อมูลเสริมความน่าสนใจเข้าไปหาจังหวะซื้อหุ้นตัวนั้นๆ มากยิ่งขึ้น  แต่ถ้าปัจจุบันแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้นแต่แนวโน้มไม่มีความแข็งแกร่งหรือทิศทางแนวโน้มขาขึ้นเริ่มอ่อนแรง ความน่าสนใจซื้อหุ้นตัวนั้นๆ ก็จะลดลง  (Indicators บอกว่าทิศทางของราคาหุ้นมีความแข็งแกร่งมากหรือน้อย)
  3. ค่าของ Indicators บอกว่า Momentum หรือแรงส่งของราคามากหรือน้อย และ Momentum มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

Momentum คืออะไร
                  Momentum หรือแรงส่งของราคา (ในบทความนี้ผมจะหมายถึงแรงส่งต่อราคาหุ้นในทิศทางบวก หรือแรงส่งที่ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น)   เป็นค่าที่บอกถึงแรงซื้อหรือความสนใจของคนในตลาดว่ามีความต้องการซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ มากหรือน้อย และมีความเร่งรีบหรือกระตือรือร้นในการซื้อหุ้นมากหรือไม่ ถ้า Momentum มีค่ามากแสดงว่าคนในตลาดมีความต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากและมีความเร่งรีบในการซื้อหุ้นมาก ราคาหุ้นจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่ถ้า Momentum น้อยแสดงว่ามีความต้องการซื้อหุ้นตัวจำนวนน้อยและไม่ค่อยสนใจอยากซื้อหุ้นสักเท่าไหร่ ราคาหุ้นจึงไม่เพิ่มขึ้นหรือบางครั้งก็ปรับตัวลดลง
                สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Momentum คือ เมื่อ Momentum ที่มีจำนวนมากแต่เริ่มลดลงไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนสนใจซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ แล้ว แต่เป็นการบอกว่าความสนใจซื้อหุ้นที่เคยมีอยู่มากเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง แต่ยังมีคนสนใจที่ซื้อหุ้นอยู่ ดังนั้นเมื่อ Momentum ที่มีจำนวนมากเกิดปรับตัวลดลง ราคาหุ้นไม่จำเป็นต้องลดลงในทันที และยังอาจจะเพิ่มขึ้นต่อไปได้อีก เพียงแต่เป็นราคาหุ้นเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง กรณีของ Momentum ที่มีจำนวนมากแต่เริ่มลดลง เช่น ภายใน 1 สัปดาห์ราคาหุ้นเคยขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 10% แต่ในสัปดาห์ถัดมาราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเพียง 5 % การขึ้นด้วยอัตราที่ลดลงอย่างนี้เราจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางที่ส่งผลต่อราคาหุ้นในทางบวกเริ่มลดลง ลดลงจึงเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้เราติดตามการเคลื่อนที่ของราคาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมี Indicators เด่นๆ อะไรบ้างที่น่าสนใจ  
                     Indicators สำหรับการวิเคราะห์กราฟหุ้นมีให้เลือกใช้งานมากมายหลายสิบตัว ปัญหาใหญ่ที่ตามมาของมือใหม่ที่อยากจะวิเคราะห์ Indicators ก็คือควรจะเลือกใช้ Indicators ตัวไหนดี ถ้าใครยังไม่มี Indicators เด็ดๆ ในดวงใจ ผมขอนำเสนอให้รับ Indicators 3 ตัวนี้ไว้พิจารณา ได้แก่ EMA (Exponential Moving Average), MACD (Moving Average Convergence Divergence), และ RSI (Relative Strength Index)  ถ้าใครสนใจหรือใช้งาน Indicators 3 ตัวนี้อยู่ ผมอยากบอกคุณว่าคุณมาถูกทางแล้วครับ และยังเป็นคอเดียวกันกับผมอีกด้วย  ผมคิดว่าทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นสุดยอด indicators ที่เอาไปใช้วิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อซื้อขายหุ้นได้ดีสุดๆ
เหตุผลที่ผมใช้งาน Indicators 3 ตัวนี้ เนื่องจากทั้ง 3 ตัวให้ข้อมูลในมุมมองที่แตกต่างกัน EMA (Exponential Moving Average) เป็น Indicators ที่ให้ข้อมูลว่าทิศทางของแนวโน้วราคาในปัจจุบันอยู่ในทิศทางใด ส่วน MACD (Moving Average Convergence Divergence) จะให้ข้อมูลว่าทิศทางแนวโน้มของราคาม่ีความแข็งแกร่งมาหรือน้อย สำหรับ RSI (Relative Strength Index) จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Momentum ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมจะค่อยๆ อธิบายรายละเอียดของ Indicators แต่ละตัวให้ละเอียดขึ้นในตอนต่อๆ ไปนะครับ

ประโยชน์ของ Indicators
        การวิเคราะห์ Indicators มีประโยชน์ในการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค ดังนี้
1) Indicators สามารถแสดงสัญญาณเตือนล่วงหน้า
สัญญาณเตือนจาก Indicator จะทำให้เราสนใจและติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นในขณะนั้นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อรอจังหวะซื้อหรือจังหวะขายที่ดี ยกตัวอย่างเช่น หุ้นที่เราถืออยู่ราคากำลังเพิ่มขึ้นแต่ Indicators ที่ใช้วัด Momentum ส่งสัญญาณว่า Momentum เริ่มอ่อนแรงลง จะเป็นสัญญาณเตือนให้เราเตรียมตัวและติดตามหุ้นตัวนั้นอย่างใกล้ชิด เพราะว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวขี้นในปัจจุบันอาจจะขี้นต่อไปได้อีกไม่มากหรือคาดว่าในอนาคตอาจจะมีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามสัญญาณที่เกิดขึ้นจาก Indicators เป็นเพียงสัญญาณเตือนล่วงหน้าเท่านั้น เรายังไม่ต้องขายหุ้นทิ้งทันที แต่เราจะติดตามกราฟของราคาอย่างใกล้ชิดและตัดสินใจลงมือขายหุ้นหลังจากที่ราคาปรับตัวลดลงกว่าจุดที่เราวางแผนไว้

2) Indicator ช่วยเสริมความมั่นใจในการลงมือซื้อหรือขายหุ้น
ถ้าข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์กราฟ Indicators มีทิศทางเดียวกันหรือสอดคล้องกับผลของการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้น ก็จะช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือของผลที่ได้จากการวิเคราะห์กราฟหุ้นว่าน่าจะมีโอกาสผิดพลาดน้อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดสัญญาณให้ลงมือซื้อหุ้นจากกราฟหุ้น และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์กราฟ Indicators บอกกับเราว่าแนวโน้มเป็นขาขึ้นและ Momentum มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงน่าจะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก ก็จะเป็นการยืนยันและเสริมความมั่นใจในการลงมือซื้อหุ้นกับเราได้

ถ้าผลการวิเคราะห์กราฟ Indicators ออกมาขัดแย้งและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการวิเคราะห์กราฟราคา ก็จะเป็นการเตือนว่าสัญญาณซื้อที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์กราฟหุ้นอาจจะเป็นสัญญาณหลอก เราก็อาจจะหลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในครั้งนั้นหรือใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายให้มากยิ่งขึ้น

เคล็ดลับในการวิเคราะห์ Indicator เพื่อการซื้อขายหุ้นที่หลายคนไม่เคยรู้
เคล็ดลับในการวิเคราะห์กราฟหุ้นทางเทคนิคของผมนั้น ผมจะเริ่มต้นและให้ความสำคัญในส่วนที่เป็นการวิเคราะห์กราฟของราคาหุ้นก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ เพราะถือว่าเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ไม่ผ่านการดัดแปลงใด ๆ ส่วนการวิเคราะห์กราฟ  Indicators จะทำทีหลังควบคู่ไปกับการวิเคราะห์กราฟของราคา เพื่อช่วยเสริมความมั่นใจและลดโอกาสที่จะเกิดการผิดพลาดในการลงทุนให้น้อยลง
      ประเด็นข้อผิดพลาดสำคัญที่พบบ่อยที่สุด คือ หลายคนตัดสินใจซื้อขายโดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ Indicators แค่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ดูกราฟของราคาหุ้นเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การลงมือซื้อหรือขายหุ้นโดยตัดสินจากข้อมูลของกราฟ Indicators เพียงอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาข้อมูลอื่นประกอบ จะเกิดสัญญาณหลอกจาก Indicator ได้บ่อย ดังนั้นในการวิเคราะห์กราฟ Indicators จะต้องทำควบคู่ไปกับการวิเคราะห์เครื่องมือทางเทคนิคชนิดอื่น ๆ ด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและโอกาสได้กำไรมากยิ่งขึ้น
      สุดท้ายผมหวังว่าบทความเรื่อง “3 สุดยอด Indicators สำหรับวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค ตอนที่ 1” จะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่และอีกหลายคนที่สนใจการวิเคราะห์ Indicators ในตอนต่อไป ผมจะเจาะลึก EMA (Exponential Moving Average) พร้อมวิธีการใช้งานให้ทุกคนได้รู้กัน หวังว่าจะยังติดตามกันต่อนะครับ หากใครมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเข้ามาผ่าน menu “ถามกูรู” ได้ครับ
ขอให้ทุกคนมีความสุขในการเทรดหุ้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่12)

3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 11 “4 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ Indicators” by เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน ,Jul 1, 2015 12:55 PM writer of บทความ...