วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่5)

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 5-1 “ทำความรู้จัก MACD”
Share on Facebook
    สวัสดีครับพบกับตอนที่ 5 ที่จะมี 2 ตอน ตอนนี้จะเป็นตอนที่ 5-1 ของซีรี่ย์ 3 ตัวช่วยรวยหุ้นด้วยเทคนิค ในตอน “ทำความรู้จัก MACD” สำหรับบทความตอนนี้ผมจะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ MACD (Moving Average Convergence Divergence อ่านว่า “Mac-Dee” หรือ “ M-A-C-D” ก็ได้) Indicator ตัวนี้เป็น Indicator ที่นำลักษณะของกราฟเส้น Moving Average ที่ถูกวาดขึ้นพร้อมๆ กัน 2 เส้นมาประยุกต์ใช้งาน เพื่อการวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วยหลักการที่ซับซ้อนขึ้น ความเห็นส่วนตัวของผมนี่ยกให้ MACD เป็นสุดยอด Indicator ในดวงใจเลยทีเดียว

เพราะจุดแข็งของ MACD เป็น Indicator ที่สามารถให้ข้อมูลได้ทั้ง 1) ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (Trend) และ 2) แรงส่งของราคาหุ้น (Momentum) พร้อมๆ กัน

ด้วยจุดแข็งตรงนี้จึงทำให้ MACD เป็น Indicator ที่แม้ว่าจะถูกพัฒนาและใช้งานมานานแล้ว แต่ยังเป็น Indicator ที่ยอมรับและได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบันนี้

     เนื่องจากบทความนี้เกี่ยวกับ MACD ซึ่งเป็น Indicator ที่ประยุกต์เอาลักษณะของเส้น Moving Average 2 เส้นมาวิเคราะห์ด้วยหลักการที่ซับซ้อนขึ้น ผู้อ่านคนไหนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการแปลความหมายจากกราฟเส้น Moving Average ผมแนะนำให้ลองอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Moving Average ก่อนแล้วค่อยอ่านบทความนี้ตามทีหลัง เพราะจะทำให้สามารถทำความเข้าใจลักษณะของ MACD ได้ง่ายขึ้น ตาม Link ที่ให้ไว้ด้านล่างครับ
ตอนที่ 1 ทำความรู้จัก Indicators
ตอนที่ 2 ทำความรู้จัก EMA
ตอนที่ 3 วิธีใช้งานเส้น EMA ที่ไม่ถูกต้อง
ตอนที่ 4 วิธีใช้งานเส้น EMA ที่ถูกต้อง
แต่สำหรับใครที่คุ้นเคยกับการอ่านเส้น Moving Average แล้วเราไปลุยกันต่อได้เลยครับ

MACD คืออะไร?

 


     ผู้คิดค้น MACD คือ Gerald Appel โดยประยุกต์เอาลักษณะของกราฟเส้น  Moving Average ที่วาดขึ้นมา 2 เส้นพร้อมๆกันมาคำนวณเป็น Indicator ตัวใหม่คือ MACD จากชื่อของ MACD (Moving Average Convergence Divergence) ที่มีคำว่า “Convergence” ที่แปลว่า วิ่งเข้าหากันหรือลู่เข้าหากัน และคำว่า “Divergence” ทีแปลว่า ห่างออกจากกันหรือแยกออกจากกัน

การคำนวณค่า MACD จึงเป็นการวัดระยะห่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้น เพื่อดูว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นกำลังเคลื่อนที่ลู่เข้าหากันหรือแยกออกจากกัน

โดยสูตรในการคำนวณ MACD แบบดั้งเดิมจะเป็นการนำเอาค่าของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ Exponential ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลัง 12 วัน (EMA12) ลบกับ ค่าของเส้นค่าเฉลี่ยแบบ exponential ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลัง 26 วัน (EMA26)

MACD = EMA(12) – EMA(26)
หรือ
MACD = ผลต่างหรือระยะห่างของเส้น EMA(12) และ EMA(26) 


รูปตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น EMA(12) และเส้น EMA(26) ที่ทำให้ค่า  MACD มีค่าเป็น + และ -

หมายเหตุ : ผมเห็นบางคนอาจเปลี่ยนจำนวนวันย้อนหลังในการคำนวณเส้น EMA โดยไม่ใช้จำนวนวัน 12 วัน และ 26 วัน ถ้าใครมีสไตล์การซื้อขายที่ซื้อเร็วขายเร็วหรือระยะเวลาในการถือหุ้นไม่นานก็จะปรับจำนวนวันในการคำนวณเส้น EMA ให้สั้นลง  แต่ถ้าใครมีระยะเวลาถือหุ้นที่นานอาจปรับจำนวนวันในการคำนวณเส้น EMA ให้ยาวขึ้นได้  (คล้ายกับหลักการในการปรับจำนวนวันในการคำนวณเส้น Moving Average)

วิธีแสดงค่า MACD
       
     การวิเคราะห์ MACD จะคำนวณค่าของ MACD ออกมาจำนวนหลายๆ ค่าต่อเนื่องกัน และนำค่าเหล่านั้นมา

วาดเป็นกราฟเส้นควบคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้น แต่จะวาดกราฟเส้นของค่า MACD บนพื้นที่ใหม่แยกออกมาจากกราฟราคาหุ้น

และในพื้นที่ของกราฟเส้น MACD จะมีการลากเส้นแนวนอนของค่า MACD = 0 ไว้ด้วย (เส้นแนวนอนของค่า MACD = 0 เรียกว่า Center Line)


รูปแสดงการวาดกราฟเส้น MACD ควบคู่กับกราฟราคาหุ้น โดยมีเส้น Center Line (MACD=0) แบ่งพื้นที่ของกราฟเส้น MACD ออกเป็นเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ด้านบน ค่าของ MACD มากกว่า (>) 0 และพื้นที่ด้านล่าง ค่า  MACD น้อยกว่า (<)  0

เวลาอ่านกราฟเส้น MACD เค้าดูอะไรกัน?

     ค่าของ MACD และลักษณะของกราฟเส้น MACD ที่วาดขึ้นสามารถอธิบายลักษณะของเส้น EMA(12) และ เส้น EMA(26) ได้ดังนี้คือ

ดูว่าค่า MACD เป็นบวก (+), ลบ (-), หรือ ศุนย์(0)

1) ถ้า MACD มีค่าเป็นบวก แปลว่า EMA(12) มีค่ามากกว่า EMA(26) ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่าเส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้น จะอยู่เหนือเส้น EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว

2) ถ้า MACD มีค่าเป็นลบ แปลว่า EMA(12) มีค่าน้อยกว่า EMA(26) ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่าเส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้น จะอยู่เหนือใต้ EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว

3) ณ จุดที่ค่า MACD = 0 เป็นจุดตัดกันของเส้น EMA(12) และ EMA(26)


รูปแสดงตัวอย่างกราฟเส้น MACD และการแปลความหมายของค่า MACD และลักษณะของเส้น MACD เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นลักษณะของเส้น EMA12 (สีฟ้า) และ EMA26 (สีชมพู) ที่ถูกวาดขึ้นพร้อมกัน โดยช่วงที่เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26) ค่า MACD จะเป็นบวก และช่วงที่เส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26) ค่า MACD จะเป็นลบ

ดูว่า ค่า MACD เป็นบวกมากขึ้น เป็นบวกน้อยลง เป็นลบมากขึ้น เป็นลบน้อยลง

4) ถ้า MACD มีเป็นค่าบวกและยิ่งมีค่าเป็นบวกมากขึ้น แสดงว่า เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน  ทำให้ความห่างระหว่าง EMA ทั้ง 2 เส้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าเส้น EMA(26) ทำให้เราเห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาขึ้นในขณะที่มีค่าเป็นบวก (อยู่เหนือ Center Line)

5) แต่ถ้า MACD มีค่าเป็นลบและยิ่งเป็นค่าเป็นลบมากขึ้น แสดงว่าเส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน ทำให้ความห่างระหว่าง EMA ทั้ง 2 เส้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวลดลงเร็วกว่าเส้น EMA(26) ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาลงในขณะที่มีค่าเป็นลบ (อยู่ใต้เส้น Center Line)


รูปแสดงตัวอย่างกรณีที่กราฟเส้น  MACD มีค่าเป็นบวกมากขึ้น และกรณีที่กราฟเส้น MACD มีค่าเป็นลบมากขึ้น เกิดจากเส้น EMA(12) และ เส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน

    6) ถ้า MACD มีเป็นค่าบวกแต่มีค่าเป็นบวกลดดลง แสดงว่า เส้น EMA(12) ยังอยู่เหนือเส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน ทำให้ความห่างระหว่างเส้น EMA 2 เส้นลดน้อยลง  เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวสูงขึ้นช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเป็นช่วงที่เส้น EMA(12) เริ่มจะปรับตัวลดลง แต่เส้น EMA(26) ปรับตัวลดลงในจังหวะที่ช้ากว่า ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาลงในขณะที่มีค่าเป็นบวก (อยู่เหนือเส้น Center Line)

    7) แต่ถ้า MACD มีค่าเป็นลบแต่มีค่าเป็นลบน้อยลง แสดงว่าเส้น EMA(12) ยังอยู่ใต้เส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน ทำให้ความห่างระหว่างเส้น EMA 2 เส้นลดน้อยลง เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวลดลงช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเส้นเป็นช่วงที่เส้น EMA(12) เริ่มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เส้น EMA(26) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในจังหวะที่ช้ากว่า ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาขึ้นในขณะที่มีค่าเป็นลบ (อยู่เส้น Center Line)


รูปแสดงตัวอย่างกรณีที่กราฟเส้น  MACD มีค่าเป็นบวกน้อยลง และกรณีที่กราฟเส้น MACD มีค่าเป็นลบน้อยลงเกิดจากเส้น EMA(12) และ เส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน


แล้ว MACD ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อะไรกับเราได้บ้าง?

    จากที่ผมได้เกริ่นนำมาก่อนหน้านี้ว่าจุดแข็งของ MACD ที่เป็น Indicator ที่สามารถให้ข้อมูลได้ 2 อย่าง คือ 1) ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (Trend) และ 2) แรงส่งของราคาหุ้น (Momentum) พร้อมๆ กัน ถ้าเราพิจารณาลักษณะของกราฟเส้น MACD จะสามารถแปลความหมายของกราฟเส้น MACD ได้ดังนี้

MACD ให้ข้อมูลของทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (Trend)

     ถ้ายังจำวิธีในการวิเคราะห์กราฟเส้นของ EMA กันได้ ประเด็นที่เกี่ยวกับการแปลความหมายของกราฟเส้น EMA ที่ถูกวาดขึ้นพร้อมกัน 2 เส้น ที่บอกว่า 1) ถ้าเส้น EMA ระยะสั้น อยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว จะแปลความหมายได้ว่า ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น และ 2) ถ้าเส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว จะแปลความหมายได้ว่า ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง

     ช่วงที่ค่า MACD มีค่าเป็นบวก (+) หรือกราฟเส้น MACD อยู่เหนือ Center Line (เส้นที่แสดงค่า MACD = 0) แปลว่า เส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว จึงแปลความหมายได้ว่าแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น

      และในช่วงที่ค่า MACD มีค่าเป็นลบ (-) หรือกราฟเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Center Line (เส้นที่แสดงค่า MACD = 0) แปลว่า เส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว จึงแปลความหมายได้ว่าแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลง

MACD เป็นบวก กราฟราคาหุ้นน่าจะอยู่ในแนวโน้มที่เป็นขาขึ้น
MACD เป็นลบ กราฟราคาหุ้นน่าจะอยู่ในแนวโน้มที่เป็นขาลง
 
รูปตัวอย่างแสดงการใช้ MACD เพื่อให้ข้อมูลทิศทางแนวโน้มราคาหุ้น

 MACD ให้ข้อมูลแรงส่งของราคาหุ้น (Momentum)

     เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับคำศัพท์ Momentum ในบทความนี้เวลาที่พูดถึง  Momentum หรือแรงส่งของราคา โดยส่วนตัวผมจะแบ่ง Momentum ออกเป็น 2 ทิศทาง คือ ถ้าช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น (ซึ่งผมกำหนดจากการที่เส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว) ผมจะพูดถึง Momentum ในทิศทางขาขึ้นเพราะในช่วงที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มทิศทางเป็นขาขึ้นผมจะถือว่าฝั่งแรงซื้อจะเป็นฝั่งที่ควบคุมตลาดหรือเป็นฝั่งที่ควบคุมทิศทางของราคาหุ้น ในทางกลับกันถ้าช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีแนวโน้มเป็นทิศทางขาลง (ซึ่งผมกำหนดจากเส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว) ผมก็จะพูดถึง Momentum ในทิศทางขาลงเพราะช่วงที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มทิศทางเป็นขาลงผมจะถือว่าแรงขายจะเป็นฝั่งที่ควบคุมตลาดหรือเป็นฝั่งที่ควบคุมทิศทางของราคาหุ้น

1) Momentum ในทิศทางขาขึ้น จะหมายถึงแรงซื้อหรือความสนใจของคนในตลาดว่ามีความต้องการซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ มากหรือน้อย และมีความเร่งรีบหรือกระตือรือร้นในการซื้อหุ้นมากหรือไม่ ถ้า Momentum ในทิศทางขาขึ้น ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าคนในตลาดมีความต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากและมีความเร่งรีบในการซื้อหุ้นมากด้วย ราคาหุ้นจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้า Momentum ขาขึ้น มีค่าน้อยแสดงว่ามีความต้องการซื้อหุ้นตัวนั้นมีจำนวนน้อยหรือไม่ค่อยมีความสนใจอยากซื้อหุ้นสักเท่าไหร่ ราคาหุ้นจึงเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ หรืออาจะอยู่นิ่งๆไม่ขึ้นไม่ลง เวลาที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้นเรามักจะสรุปว่ายังมี Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาขึ้นอยู่ แต่ Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาขึ้นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือเท่าเดิมนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น

2) Momentum ในทิศทางขาลง จะหมายถึงแรงขายหรือความสนใจของคนในตลาดว่ามีความต้องการขายหุ้นตัวนั้น ๆ มากหรือน้อย และมีความเร่งรีบหรือกระตือรือร้นในการขายหุ้นมากหรือไม่ ถ้า Momentum ในทิศทางขาลง ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าคนในตลาดมีความต้องการขายหุ้นเป็นจำนวนมากและมีความเร่งรีบในการขายหุ้นมากด้วย ราคาหุ้นจึงลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้า Momentum ขาลง มีค่าน้อยแสดงว่ามีความต้องการขายหุ้นตัวนั้นมีจำนวนน้อยหรือไม่ค่อยมีความสนใจอยากขายหุ้นสักเท่าไหร่ ราคาหุ้นจึงลดลงอย่างช้าๆ หรืออาจะอยู่นิ่งๆไม่ขึ้นไม่ลง เวลาที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลงเรามักจะสรุปว่ายังมี Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาลงอยู่ แต่ Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาลงนั้นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือเท่าเดิมก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นเช่นเดียวกัน

ถ้าแนวโน้มราคาหุ้นเป็นขาขึ้น จะพูดถึง Momentum ทิศทางขาขึ้น
ถ้าแนวโน้มราคาหุ้นเป็นขาลง จะพูดถึง Momentum ทิศทางขาลง

กรณีที่เราสามารถจะตีความว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเพิ่มสูงขึ้น  

     ในช่วงที่แนวโน้มของราคาหุ้นอยู่ในทิศทางขาขึ้น (MACD มีค่าเป็น บวก (+)) การที่ราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต ยกตัวอย่างเช่น สองสัปดาห์ที่แล้วราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 2% สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นอีก 3% และสัปดาห์นี้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นอีก 4% ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา Momentum ในทิศทางขาขึ้น เพิ่มขึ้นตลอดทั้ง 3 สัปดาห์ เพราะคนในตลาดมีความต้องการซื้อหุ้นตัวนี้เป็นจำนวนมากและมีความรีบเร่งในการซื้อหุ้นอีกด้วย จึงทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น

     ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้น เส้น EMA(12) จะอยู่เหนือเส้น EMA(26) และถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรณีนี้ MACD ที่มีค่าเป็นบวก (+) ก็จะเป็นบวกเพิ่มขึ้น


รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น  MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น

กรณีที่เราสามารถจะตีความว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นลดต่ำลง

     ในช่วงแนวโน้มของราคาหุ้นอยู่ในทิศทางเป็นขาขึ้น (MACD มีค่าเป็น บวก (+)) การที่ราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต ยกตัวอย่างเช่น สองสัปดาห์ที่แล้วราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 4 % สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเพียง 3 % และสัปดาห์นี้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเพียง 2 % ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา Momentum ในทิศทางขาขึ้น ค่อยๆ ลดดลงตลอดทั้ง 3 สัปดาห์ เพราะคนในตลาดมีความต้องการซื้อหุ้นตัวนี้เริ่มลดลงและมีความรีบเร่งในการซื้อหุ้นลดลง จึงทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ช้าลง

     ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้น เส้น EMA(12) จะอยู่เหนือเส้น EMA(26) ถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวสูงขึ้นช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) ลดลงเรื่อยๆ กรณีนี้  MACD ที่มีค่าเป็นบวก (+) ก็จะเป็นบวกลดลง

ข้อสังเกต : จะเห็นได้ว่าเมื่อ Momentum ในทิศทางขาขึ้นที่มีจำนวนมากแต่เริ่มลดลงไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนสนใจซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ แล้ว แต่เป็นการบอกว่าความสนใจซื้อหุ้นที่มากเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง แต่ยังมีคนสนใจซื้อหุ้นอยู่ ดังนั้นเมื่อ Momentum ทิศทางขาขึ้นเริ่มปรับตัวลดลง ราคาหุ้นไม่จำเป็นต้องลดลงในทันทีและยังอาจจะเพิ่มขึ้นต่อไปได้อีก การที่ Momentum ทิศทางขาขึ้นปรับตัวลดลงจึงเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้เราติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางในอนาคตหรือไม่


รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น  MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นปรับตัวลดลง

กรณีที่เราสามารถจะตีความว่า Momentum ในทิศทางขาลงเพิ่มสูงขึ้น

     ในช่วงที่แนวโน้มของราคาหุ้นอยู่ในทิศทางเป็นขาลง (MACD มีค่าเป็น ลบ (-)) การที่ราคาหุ้นในปัจจุบันปรับตัวลดลงในอัตราเร็วที่มากกว่าอัตราการลดลงของราคาหุ้นในอดีต ยกตัวอย่างเช่น สองสัปดาห์ที่แล้วราคาหุ้นปรับตัวลดลง 2% สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลดลงอีก 3% และสัปดาห์นี้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอีก 4% ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา Momentum ทิศทางขาลง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนในตลาดไม่ค่อยสนใจซื้อหุ้นตัวแต่กลับสนใจที่จะขายหุ้นมากกว่าและยิ่งมีความกระตือรือร้นในการอยากขายหุ้นมากขึ้น จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น

     ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง เส้น EMA(12) จะอยู่ใต้ EMA(26) ถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันลดต่ำลงในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการลดต่ำลงของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวลดลงเร็วกว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรณีนี้  MACD ที่มีค่าเป็นลบ (-) ก็จะเป็นลบเพิ่มมากขึ้น


รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น  MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาลงปรับตัวเพิ่มขึ้น

กรณีที่เราสามารถจะตีความว่า Momentum ในทิศทางขาลงลดต่ำลง

     ในช่วงที่แนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง (MACD มีค่าเป็น ลบ (-)) การที่ราคาหุ้นในปัจจุบันปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลงกว่าอัตราการลดลงของราคาหุ้นในอดีต ยกตัวอย่างเช่น สองสัปดาห์ที่แล้วราคาหุ้นปรับตัวลดลง 4% สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลดลงเพียง 3% และสัปดาห์นี้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเพียง 2% ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา Momentum ทิศทางขาลง ค่อยๆ ลดต่ำลงเรื่อยๆ เพราะคนในตลาดเริ่มสนใจที่จะขายหุ้นตัวนี้น้อยลง จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงช้ากว่าการลดลงของราคาหุ้นในช่วงก่อนหน้า

     ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง เส้น EMA(12) จะอยู่ใต้ EMA(26) ถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันลดต่ำลงในอัตราที่ช้ากว่าอัตราการลดต่ำลงของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวลดลงช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) ลดลงเรื่อยๆ กรณีนี้  MACD ที่มีค่าเป็นลบ (-) ก็จะเป็นลบลดน้อยลง

ข้อสังเกต : จะเห็นได้ว่าเมื่อ Momentum ในทิศทางขาลงที่มีจำนวนมากแต่เริ่มลดลงไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนสนใจขายหุ้นตัวนั้น ๆ แล้ว แต่เป็นการบอกว่าความสนใจขายหุ้นที่มากก่อนหน้านี้เริ่มมีปริมาณลดน้อยลง แต่ยังมีคนสนใจขายหุ้นอยู่ ดังนั้นเมื่อ Momentum ทิศทางขาลงเริ่มปรับตัวลดลง ราคาหุ้นไม่จำเป็นต้องปรับตัวสูงขึ้นในทันทีและยังอาจจะปรับตัวลดลงต่อไปได้อีก การที่ Momentum ในทิศทางขาลงปรับตัวลดลงจึงเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้เราติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางในอนาคตหรือไม่

 รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น  MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาลงปรับตัวลดลง

บทสรุป
       สุดท้ายผมขอสรุปเกี่ยวกับเนื้อหาในตอนที่ 5-1 อีกสักรอบ โดยบทความนี้ได้แนะนำให้รู้จักกับ Indicator ตัวใหม่ คือ MACD ซึ่งเป็น Indicator ที่บอกทั้งแนวโน้มของกราฟราคาหุ้น และ Momentum โดยมีวิธีการคำนวณค่า MACD จากส่วนต่างของ EMA(12) และ EMA(26) และแสดงค่าจะแสดงเป็นกราฟเส้นบนพื้นที่ใหม่ที่ไม่ใช่พื้นที่เดียวกันกับกราฟราคาหุ้น

ค่าของ MACD จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของแนวโน้มกราฟราคาหุ้น   
     - ลักษณะของเส้น MACD ในช่วงที่มีค่าเป็น + จะแปลความหมายได้ว่ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น
     - ส่วนในช่วงที่ MACD มีค่าเป็นลบจะแปลความหมายได้ว่ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง

ทิศทางของเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาขึ้น จะให้ข้อมูลในเชิงบวกกับราคาหุ้น
     - กรณีที่ MACD มีค่าเป็นบวกและเส้น MACD มีทิศทางขาขึ้นจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเพิ่มมากขึ้น
     - กรณีที่ MACD มีค่าเป็นลบ และเส้น MACD มีทิศทางเป็นขาขึ้นจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาลงเริ่มอ่อนแรง

ทิศทางของเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาลง จะให้ข้อมูลในเชิงลบกับราคาหุ้น
    - กรณีที่ MACD มีค่าเป็นบวกแต่เส้น MACD มีทิศทางเป็นขาลงจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเริ่มอ่อนแรง
    - กรณีที่ MACD มีค่าเป็นลบ และเส้น MACD มีทิศทางเป็นขาลงจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาลงเพิ่มมากขึ้น

     อย่างไรก็ตามหากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอ่านค่าและแปลความหมาย MACD ก็สามารถ Inbox ถามมาได้หรือ Comment ถามไว้ที่ใต้บทความ สำหรับตอนหน้าจะเป็นตอนที่ 5-2 ผมจะมาแนะนำให้รู้จักกับ Signal Line และ MACD Histogram ซึ่งเป็น Indicator ที่ถูกวาดขึ้นพร้อมกับ MACD เสมอๆ อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะครับ สำหรับตอนนี้ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ บ๋ายบายยครับ……

Link เพื่ออ่านตอน อื่น ๆ
ตอนที่ 5-1 ทำความรู้จัก MACD
ตอนที่ 5-2 ทำความรู้จัก Signal Line และ MACD 
ตอนที่ 6 วิธีใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง
ตอนที่7 วิธีใช้งาน MACD ที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่12)

3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 11 “4 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ Indicators” by เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน ,Jul 1, 2015 12:55 PM writer of บทความ...