วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่7)

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 6 “วิธีใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง”
Share on Facebook
      สวัสดีครับกับบทความตอนที่ 6 ในห้วข้อ วิธีใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง ในบทความนี้ผมขอเริ่มต้นแนะนำใ้ห้รู้จักสัญญาณที่น่าสนใจจาก MACD ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ MACD ตัด Center Line , MACD ตัด Signal Line และ Divergence พร้อมทั้งการแปลความหมายสัญญาณที่เกิดขึ้นของแต่ละประเภทด้วย จากนั้นก็จะแนะนำวิธีใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง แต่กลับเป็นวิธีที่ถูกแนะนำให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย พร้อมตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ซื้อขายหุ้นด้วยวิธีที่ผิดเหล่านี้แล้วผลการซื้อขายไม่น่าจะได้กำไรในระยะยาว แล้วในบทความหน้าผมจึงค่อยมาแนะนำให้รู้จักวิธีการใช้งาน MACD ที่ถูกต้องอีกทีนึงครับ

สัญญาณจาก MACD

     ก่อนอื่นผมขอแนะนำให้รู้จักกับเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์จากกราฟของ MACD ที่นักเทคนิคใช้บอกว่า MACD ได้ส่งสัญญาณที่น่าสนใจออกมาแล้ว โดยเป็นสัญญาณพื้นฐานที่ถูกแนะนำอยู่ทั่วไป และจะอธิบายความหมายพร้อมที่มาที่ไป ว่าทำไมสัญญาณทั้ง 3 ประเภทจึงควรจะได้รับความสนใจ  แต่อย่างไรก็ตามสัญญาณทั้ง 3 ประเภทที่เกิดขึ้นจาก MACD นี้ผมไม่แนะนำให้นำไปลงมือซื้อขายในทันทีหลังจากที่เกิดสัญญาณขึ้น เพราะเป็นวิธีนำไปซื้อขายหุ้นแล้วไม่ได้กำไร

1) เส้น MACD ตัดข้ามเส้น Center Line (MACD = 0)

     จากที่ผมได้อธิบายวิธีการอ่านกราฟเส้น MACD ไว้ในบทความตอนที่ 5-1 ในหัวข้อ “ทำความรู้จัก MACD” ว่า

     การที่ค่า MACD มีค่าเป็นบวก(+) หรือเส้น MACD อยู่เหนือ Center Line หมายความว่า เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26)

     และการที่ MACD มีค่าเป็นลบ(-) หรือเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Center Line ก็หมายความว่า เส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26)

     ซึ่งเส้น Center Line คือเส้นที่แสดงค่า MACD = 0 แปลว่าที่จุดนั้น เส้น EMA(12) กับ เส้น EMA(26) มีค่าเท่ากัน






รูปแสดงความหมายของค่า MACD ที่เป็นบวก(+) และเป็นลบ(-)  

     การที่เส้น MACD ตัดข้ามเส้น Center Line ขึ้นไป (MACD เปลี่ยนจากค่าลบ(- )ไปเป็นค่าบวก(+)) จึงแปลความหมายจากกราฟราคาได้ว่า เส้น EMA(12) ตัดเส้น EMA(26) ขึ้นไป จากเดิมที่เส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26)  ได้เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่เหนือเส้น EMA(26) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว   และการที่เส้น MACD ตัดข้ามเส้น Center Line ลงมา (MACD เปลี่ยนจากค่าบวก(+ )ไปเป็นค่าลบ(-))  จึงแปลความหมายจากกราฟราคาได้ว่า เส้น EMA(12) ตัดเส้น EMA(26) ลงมา จากเดิมที่เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26)  ได้เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่ใต้เส้น EMA(26) นั่นเอง

     มีคำแนะนำที่ผมเคยได้ยินอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการใช้งาน MACD โดยลงมือซื้อหรือขายจากสัญญาณเส้น MACD ตัดข้ามเส้น Center Line คืองมือซื้อหุ้นเมื่อ เส้น MACD ตัดเส้น Center Line ขึ้นไป และลงมือขายหุ้นเมื่อ MACD ตัดเส้น Center Line ลงมา ซึ่งผมอยากจจะบอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีการใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Center Line ขึ้นไป
และลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Center Line ลงมา

     การลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Center Line ก็เหมือนกับว่าเป็นการลงมือซื้อหุ้นหรือลงมือขายหุ้นจากสัญญาณการตัดกันของเส้น EMA นั่นเอง โดยการลงมือซื้อขายเมื่อ MACD ตัดเส้น Center Line นั้นไม่สามารถทำให้ได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งก็ซื้อขายแล้วได้กำไร บางครั้งก็ซื้อขายแล้วขาดทุน ทำให้วิธีนี้เป็นวิธีที่ผมไม่แนะนำให้ใช้ในการซื้อขายหุ้น

2) เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line

     ในตอนที่ 5-1 "ทำความรู้จักกับ MACD" ผมยังได้อธิบายลักษณะสำคัญที่น่าสนใจอีกอย่างนึ่งที่เกี่ยวกับเสัน MACD ก็คือ ทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD  เพราะว่าทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD จะให้มุมมองของ Momentum ว่าส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างไร

     ทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาขึ้นจะให้เห็นมุมมอง Momentum ที่เป็นบวกต่อราคาหุ้น เพราะว่า เส้น MACD ที่มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้น เกิดจากการที่ ราคาหุ้นเริ่มลดลงในอัตราที่ช้าลง หรือ ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น

     ทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาลงจะให้มุมมองของ Momentum ที่เป็นลบต่อราคาหุ้น เพราะว่า เส้น MACD ที่มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง เกิดจากการที่ ราคาหุ้นเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง หรือ ราคาหุ้นปรับตัวลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น

      การที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป จะทำให้เส้น MACD อยู่เหนือเส้น Signal Line ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยของตัว MACD เอง ซึ่งจะแปลความหมายได้ว่า เส้น MACD น่าจะเป็นแนวโน้มทิศทางขาขึ้นแล้ว จุดที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป จึงเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะ MACD และ Signal Line ได้ส่งสัญญาณว่าหลังจากนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จากเดิม Momentum ให้มุมมองในเชิงลบกับราคาหุ้น เปลี่ยนเป็น Momentum ให้มุมมองในเชิงบวกกับราคาหุ้นแทน

     และการที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา จะทำให้เส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยของตัว MACD เอง ซึ่งจะแปลความหมายได้ว่า เส้น MACD น่าะเป็นแนวโน้มทิศทางขาลงแล้ว จุดที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา ก็จะเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะ MACD และ Signal Line ได้ส่งสัญญาณว่าหลังจากนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จากเดิม Momentum ให้มุมมองในเชิบบวกกับราคาหุ้น เปลี่ยนเป็น Momentum ให้มุมมองในเชิงลบกับราคาหุ้นแทน

     อย่างไรก็ตาม การที่ลงมือซื้อทันที่ที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line หรือลงมือขายทันที่ที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมาทันทีนั้นเป็นวิธีการใช้งาน MACD ที่ผิดวิธี  


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป
และลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา

     หลังจากที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไปนั้นจะบอกกับเราว่า Momnetum ได้เปลี่ยนจากมุมมองเชิงลบต่อราคาหุ้นเป็นมุมมองเชิงบวกกับราคาหุ้นก็จริงแต่ว่าไม่ได้การันตีเสมอไปครับว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นเสมอไป แต่เป็นไปได้ว่าราคาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นได้บ้าง แต่บางครั้งก็อาจเป็นการปรับตัวขึ้นเพียงชั่วคราวระยะเวลาสั้นๆ ก็เป็นไปได้ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้ล่วงหน้าว่า เมื่อ MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไปแล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นแบบชั่วคราวหรือราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน

     และหลังจากที่เส้น MACD ตัดเส้น SIgnal Line ลงมาเป็นการบอกว่า Momentum ได้เปลี่ยนจากมุมมองเชิงบวกเป็นมุมมองเชิงลบต่อราคาหุ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาจะต้องปรับตัวลดลงเสมอ และถึงแม้ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงหลังจากที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา เราก็ไม่รู้อีกเช่นเดียวกันว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นจะเป็นการปรับตัวลดลงแบบชั่วคราวหรือจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องยาวนาน

การที่ลงมือซื้อหุ้นทันทีที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป หรือขายหุ้นทันทีที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ก็จะเป็นอีกวิธีที่ซื้อขายแล้ว ไม่สามารถทำให้ได้กำไรเสมอไป ดังนั้นจึงเป็นวิธีที่ผมไม่แนะนำให้ใช้เพื่อลงมือซื้อขายครับ

3) เส้น MACD มีทิศทางไม่เป็นไปในทางเดียวกับกราฟราคาหุ้น (Divergence)

     ความหมายของ Divergence ในการวิเคราะห์ Indicators คือ การที่ Indicators ให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของกราฟราคาหุ้น โดยการพิจารณาสัญญาณ Divergence มักจะใช้กับ Indicators ประเภทที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ แรงส่งของราคา (Momentum) และ Indicators ประเภทที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของแนวโน้ม  (MACD ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงส่งของราคา)

     ยกตัวอย่างกรณีที่กราฟราคาหุ้นกับกราฟ Indicators ไม่สอดคล้องกัน เช่น  ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นแต่ Indicators กลับให้ข้อมูลว่า Momentum หรือแรงส่งของราคาหุ้นในทิศทางขาขึ้นเริ่มอ่อนแรง หรือในทางตรงข้ามกรณีที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงแต่ Indicaotors กลับให้ข้อมูลว่า Momentum หรือแรงส่งของราคาหุ้นในทิศทางขาลงเริ่มอ่อนแรง

     วิธีการพิจารณาสัญญาณ Divergence ที่นิยมคือ การเปรียบเทียบจุดสูงสุดของกราฟราคาหุ้นกับจุดสูงสุดของกราฟเส้น Indicators และการเปรียบเทียบจุดต่ำสุดของกราฟราคาหุ้นกับจุดต่ำสุดของกราฟเส้น Indicators เพื่อดูว่ามีทิศทางเดียวกัน (Convergence) หรือทิศทางไม่สอดคล้องกัน (Divergence)

     ในบทความนี้ผมจะยกตัวอย่างกรณีที่กราฟราคาหุ้นกับกราฟ Indicators ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน (Divergence) ซึ่งได้แก่

     1) กรณีที่กราฟราคาหุ้นสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าจุดสูงสุดก่อนหน้า แต่กราฟ Indicators ประเภท Momentum ไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่สูงขึ้นได้เช่นเดียวกับกราฟของราคาคา ซึ่งแปลความหมายได้ว่า Momentum ที่จะเป็นแรงส่งให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นในครั้งนี้ต่ำลงกว่าก่อนหน้า จึงเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า ให้เราใกล้ชิดกับกราฟของราคาให้มากขึ้น เพราะในอนาคตราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มจากทิศทางขาขึ้นเป็นทิศทางขาลงแล้วก็เป็นไปได้  (Bearish Divergence : คาดว่าราคาหุ้นน่าจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง)

     2) กรณีที่กราฟราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดก่อนหน้า แต่กกราฟ Indicators ประเภท Momentum ไม่สามารถสร้างจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำลงได้เช่นเดียวกับกราฟของราคา ก็จะแปลความหมายได้ว่า Momentum ที่จะเป็นแรงส่งให้ราคาปรับตัวลดลงต่อในครั้งนี้เริ่มลดลงกว่าครั้งก่อนหน้า ก็ะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้ติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกันพราะในอนาคตราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มจากทิศทางขาลงเป็นทิศทางขาขึ้นก็ได้ (Bullish Divergence : คาดว่าราคาหุ้นน่าจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น)


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นกรณีที่กราฟราคาหุ้นกับกราฟ Indicators ไม่สอดคล้องกัน (Divergence)

     จากที่กราฟเส้น MACD เป็น Indicators ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Momentum  การที่ลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ส่งสัญญาณ Beraish Divergence หรือลงมือซื้อหุ้นทันทีเมื่อ MACD ส่งสัญญาณ Bullish Divergence เป็นวิธีการใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง เพราะสัญญาณ Divergence เป็นเพียงสัญญาณเตือนล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่ใช่สัญญาณที่จะให้ลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันที

เคยซื้อขายหุ้นด้วยสัญญาณจาก MACD แล้วได้กำไรนะ ทำไม DaddyTrader บอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

     สิ่งที่ผมอยากจะแสดงให้เห็นคือ การลงมือซื้อขายทันทีที่เกิดสัญญาณจาก MACD ตัด Center Line หรือ MACD ตัด Signal Line หรือ สัญญาณ Divergence ไม่สามารถทำให้ผลการซื้อขายได้กำไรทุกครั้งเสมอไป บางครั้งซื้อขายแล้วก็ได้กำไร บางครั้งซื้อขายแล้วก็ขาดทุน แต่ถ้าซื้อซื้อขายด้วยวิธีนี้อย่างต่อเนื่องโอกาสที่ผลจากการซื้อขายโดยรวมจะออกมาเป็นขาดทุนน่าจะมีมากกว่าโอกาสที่ผลรวมจะออกมาเป็นกำไร

     ผมสังเกตว่าเวลาที่มีการนำเสนอสัญญาณจาก MACD เพื่อนำไปซื้อขายหุ้น ส่วนใหญ่จะแสดงตัวอย่างการซื้อขายหุ้นจากสัญญาณ MACD ตัด Center Line หรือ MACD ตัด Signal Line หรือ สัญญาณ Divergence แล้วได้ผลออกมาเป็นกำไร

     ในบทความนี้ผมขอเสนอตัวอย่างการซื้อขายหุ้นจากสัญญาณ MACD ตัด Center Line และ MACD ตัด Signal Line หรือ สัญญาณ Divergence แล้วเกิดผลขาดทุน หรือขายหมู เพื่อให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าการซื้อขายด้วยวิธีนี้ไม่สามารถทำให้ได้กำไรและประสบความสำเร็จในการซื้อขายระยะยาว


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Center Line ขึ้นไป
และลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Center Line ลงมา จะเห็นได้ว่ามีผลการซื้อขายออกมาเป็นขาดทุน


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป
และลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Signal  Line ลงมา จะเห็นได้ว่ามีผลการซื้อขายออกมาเป็นขาดทุน



รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือขายหุ้นทันทีที่มีสัญญาณ Bearish Divergence แล้วราคาปรับตัวขึ้นต่อจึงขายหมู

     หลังจากที่เรารู้ว่าการลงมือซื้อขายหุ้นทันทีจากสัญญาณ MACD ตัด Center Line และ MACD ตัด Signal Line หรือสัญญาณ Divergence เป็นวิธีการใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง ในตอนบทความตอนหน้าผมจะแนะนำให้รู้จักกับวิธีการใช้งาน MACD ที่ถูกต้อง สำหรับบทความในตอนนี้ขอจบแต่เพียงเท่านี้ครับ แล้วพบกันใหม่นะคร๊าบบบบ บ๋ายบาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่12)

3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 11 “4 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ Indicators” by เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน ,Jul 1, 2015 12:55 PM writer of บทความ...