วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่4)

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 4 “วิธีใช้งานเส้น EMA ที่ถูกต้อง”
Share on Facebook
              ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้แนะนำวิธีที่ใช้งานเส้น EMA ที่ไม่ถูกต้อง โดยการลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันทีจากเงื่อนไขจาก 1) การตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือ 2) การตัดกันระหว่างเส้น EMA ระยะสั้นกับเส้น EMA ระยะยาว ซึ่งในตอนที่แล้วผมได้ให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่าทำไมผมจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีดังกล่าว ในตอนที่ 4 นี้ ผมจะแนะนำวิธีใช้งานเส้น EMA ที่ถูกต้องและเป็นวิธีที่นำไปใช้ซื้อขายหุ้นแล้วได้ผลดี ถ้าทุกคนพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลยครับ

วิธีใช้งานเส้น EMA ที่ถูกต้อง คือ




     ใช้เส้น EMA ระบุทิศทางของแนวโน้มของราคาหุ้นในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าควรจะ 1) หาจังหวะซื้อหุ้น 2) ห้ามซื้อหุ้น 3) หาจังหวะ Short หุ้น 4) ห้าม Short หุ้น หรือ 5) อยู่เฉยๆไม่ทำอะไร

หมายเหตุ : การ Short หุ้น เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในกรณีที่เราคาดว่าราคาหุ้นน่าจะลดต่ำลงในอนาคต วิธีการ Short หุ้นสามารถทำได้โดยการยืมหุ้นจากผู้ให้ยืมหุ้น แล้วนำมาขายในตลาดที่ราคาสูง และถ้าราคาหุ้นในอนาคตปรับตัวลดลงจริง ก็ค่อยซื้อหุ้นคืนจำนวนเท่าเดิมโดยใช้เงินที่น้อยลง และนำหุ้นจำนวนเท่าเดิมที่ยืมมาก่อนหน้ามาคืนให้แก่ผู้ให้ยืมหุ้น กำไรที่ได้รับจะเกิดจากส่วนต่างของราคาที่ขายหุ้นได้ในตอนแรกกับราคาที่ซื้อหุ้นคืนในตอนหลัง

ลำดับแรกใช้เส้น EMA เพื่อระบุว่าตอนนี้ทิศทางของแนวโน้มเป็นอย่างไร?

        การใช้เส้น EMA เพื่อระบุทิศทางของแนวโน้มของราคาหุ้น เป็นวิธีการนำเส้น EMA ไปใช้วิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคที่ทำความง่ายที่สุดและได้รับความนิยมที่สุด เนื่องจากมีข้อสังเกตของความสัมพันธ์ระหว่างกราฟราคาหุ้นและเส้น EMAในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มในแบบต่างๆ ดังนี้

ทิศทางหุ้นเป็น “ขาขึ้น”


รูปตัวอย่างลักษณะ 3 อย่างของเส้น EMA เมื่อแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้น

            ถ้าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน จะพบลักษณะของเส้น EMA ดังนี้
            1) เมื่อเปรียบเทียบตำแหน่งของกราฟราคาหุ้นกับตำแหน่งของเส้น EMA ส่วนใหญ่กราฟราคาหุ้นจะอยู่เหนือเส้น EMA
            2) เมื่อพิจารณาความชันของเส้น EMA จะพบว่า เส้น EMA มีความชันที่เฉียงขึ้น
            3) เมื่อเปรียบเทีบ ตำแหน่งของเส้น EMA ระยะสั้นจะอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว
            และเมื่อเราพบกราฟราคาหุ้นและ EMA ที่มีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา เราจะสรุปว่าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น


ทิศทางหุ้นเป็น “ขาลง”


รูปตัวอย่างลักษณะ 3 อย่างของเส้น EMA เมื่อแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง

     ถ้าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลงอย่างชัดเจน จะพบลักษณะของเส้น EMA ดังนี้
            1) เมื่อเปรียบเทียบตำแหน่งของกราฟราคาหุ้นกับตำแหน่งของเส้น EMA ส่วนใหญ่กราฟราคาหุ้นจะอยู่ใต้เส้น EMA
            2) เมื่อพิจารณาความชันของเส้น EMA จะพบว่า เส้น EMA มีความชันที่เฉียงลง
            3) เมื่อเปรียบเทียบ ตำแหน่งของเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังที่สั้นกว่าจะอยู่ใต้เส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังที่นานกว่า ใช้คำสรุปว่า เส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว ได้ไหมครับ
            และเมื่อเราพบกราฟราคาหุ้นและ EMA ที่มีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาก็จะสรุปว่าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง

            สาเหตุที่ผมใช้คำว่า ”มีโอกาสสูง” จะขออธิบายด้วยความรู้ทางด้านตรรกศาสตร์ (Logic) ซึ่งในทางตรรกศาสตร์มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเชื่อมประโยค 2 ประโยคด้วยคำว่า “ถ้า..แล้ว” โดยมีข้อสรุปว่า
ถ้า (เหตุการณ์ที่ 1) แล้ว (เหตุการณ์ที่ 2) เป็นข้อความที่เป็นจริง เราไม่สามารถสรุปว่า ถ้า (เหตุการณ์ที่ 2) แล้ว (เหตุการณ์ที่ 1) จะเป็นข้อความที่เป็นจริงด้วยเสมอไป

        ยกตัวอย่างประโยคที่เป็นความจริง คือ
ถ้า ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นทิศทางขาขึ้น (เหตุการณ์ที่ 1) แล้ว เส้น EMA ระยะสั้นจะอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว (เหตุการณ์ที่ 2)
 แต่เราไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อความด้านล่างนี้จะเป็นจริงเสมอไป
ถ้า เส้น EMA ระยะสั้นจะอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว (เหตุการณ์ที่ 2) แล้ว ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นทิศทางขาขึ้น (เหตุการณ์ที่ 1)

     เวลาที่เราวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นไปพร้อมๆ กับเส้น EMA ลักษณะของกราฟที่เราจะเห็น คือ เหตุการณ์ที่ 2 คือ เส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว หรือไม่ก็เส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว ดังนั้นลักษณะของกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA ที่เห็น ก็ยังไม่สามารถสรุปทิศทางของแนวโน้มของราคาได้ถูกต้อง 100% เพียงแต่ว่ามีโอกาสสูงที่ทิศทางแนวโน้มของราคาจะเป็นทิศทางนั้น เนื่องจากในช่วงที่ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นแบบไม่ขึ้นไม่ลงอย่างชัดเจน หรือ Sideways บางช่วงกราฟราคาหุ้นก็อยู่เหนือเส้น EMA และบางช่วงกราฟราคาหุ้นก็อยู่ใต้เส้น EMA สลับไปมา หรือบางช่วงเวลาเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่าก็อยู่เหนือเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังนานกว่า และบางช่วงเส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังที่สั้นกว่าก็อยู่ใต้เส้น EMA ที่คำนวณจากระยะเวลาย้อนหลังนานกว่า สลับกันไปมา แต่จะมีข้อสังเกตที่ดูค่อนข้างง่ายในช่วงที่ทิศทางแนวโน้มของราคาเป็นแบบ Sideways  คือให้ดูที่ความชันของเส้น EMA ถ้าหากเส้น EMA มีความชันไม่มากหรือเป็นเส้นในแนวราบ ก็หมายความว่าทิศทางแนวโน้มของราคาขณะนั้นอาจจะเป็น Sideways


รูปตัวอย่างลักษณะของเส้น EMA เมื่อแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็น Sideways

ขั้นตอนต่อมาเมื่อเราระบุทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้แล้ว จะรู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร?

     การที่จะวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคให้ประสบความสำเร็จควรจะเริ่มต้นที่กราฟราคาหุ้นซึ่งมีความสำคัญที่สุด  เช่น ถ้าแนวโน้มของกราฟราคาหุ้นปัจจุบันเป็นขาขึ้น แล้วค่อยดูว่าเส้น EMA ซึ่งเป็น Indicators ว่าให้ข้อมูลที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับกราฟของราคาหุ้น ไม่มีนักวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคเก่งๆ คนไหน จะแนะนำว่าเส้น EMA หรือ Indicators จะให้ข้อมูลในการซื้อขายหุ้นได้ดีกว่ากราฟหุ้น หรือแนะนำให้ซื้อขายหุ้นโดยดูจากเส้น EMA หรือIndicators อย่างเดียว เพราะเส้น EMA หรือ Indicators เกิดจากการนำข้อมูลราคาหุ้นมาคำนวณด้วยสูตรออกมาเป็นค่าใหม่ จึงสู้กราฟราคาหุ้นซึ่งวาดการเคลื่อนที่ของราคาจริงๆ ไม่ได้

     ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นร่วมกับเส้น EMAมีวัตถุประสงค์เพื่อหาคำตอบว่าปัจจุบันแนวโน้มของราคาหุ้นน่าจะมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะเมื่อระบุเราระบุทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาได้แล้ว เราก็จะได้คำตอบครับว่าเราควรจะเลือกทำอะไรและไม่ควรทำอะไร เพื่อที่จะทำให้เรามีโอกาสได้กำไรมากกว่าโอกาสที่จะขาดทุน

     พื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการซื้อขายหุ้นด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคแนว “ซื้อขายหุ้นตามแนวโน้ม (Trend Following)” แนะนำว่า

1) ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น สิ่งที่เราควรจะทำมากที่สุด คือ ควรหาจังหวะในการซื้อหุ้น และห้าม Short หุ้นโดยเด็ดขาด เพราะ การเลือกหาจังหวะที่เหมาะสมในการซื้อหุ้นในช่วงกราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น เราจะได้โอกาสโด้กำไรมากกว่าโอกาสที่จะขาดทุน แต่การ Short หุ้น ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้นจะมีโอกาสที่ขาดทุนมากกว่าโอกาสที่จะกำไร


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการหาจังหวะซื้อหุ้น และห้ามShort หุ้นเด็ดขาด

      จากรูปตัวอย่างที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเส้นตรงแต่ราคาหุ้นจะขยับขึ้นๆ ลงๆ สลับกัน แต่จะเห็นว่าเวลาหุ้นปรับตัวลงดลงจะเป็นการปรับตัวลดลงเล็กน้อยและชั่วคราว จากนั้นราคาหุ้นจะมีการปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ขึ้นไปเรื่อยๆ จึงทำให้เห็นภาพกราฟราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น ดังน้ันตลอดช่วงเวลาที่หุ้นยังเป็นทิศทางขาขึ้น ถ้าเราเลือกอยู่ฝั่งที่จะซื้อหุ้น ถึงแม้ว่าเราจะซื้อหุ้นผิดจังหวะ หลังจากที่ซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นปรับตัวลดลง แต่ก็จะเป็นการปรับตัวลดลงชั่วคราวและสุดท้ายราคาก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและทำให้เราได้กำไร แต่ถ้าเรา Short หุ้น ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น เราจะต้องซื้อหุ้นคืนในจังหวะที่ดีจริงๆ ตอนที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงชั่วคราว ไม่เช่นนั้นพอราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอีกครั้งจะทำให้เราต้องซื้อหุ้นคืนในราคาที่แพงขึ้นและเกิดผลขาดทุน

2) แต่ในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางที่เป็นแนวโน้มขาลง สิ่งที่ควรจะทำคือ ห้ามซื้อหุ้น หรือควรหาจังหวะ Short หุ้น เพราะการซื้อหุ้นในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลง จะมีโอกาสขาดทุนมากกว่าโอกาสได้กำไร แต่การ Short หุ้นในช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลงจะมีโอกาสกำไรมากกว่าโอกาสขาดทุน


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง สิ่งที่ควรทำคือห้ามซื้อหุ้น หรือควรหาจังหวะในการ Short หุ้นถ้ามีช่องทางที่สามารถจะทำได้

     จากรูปตัวอย่างที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลง ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวลงเป็นเส้นตรง แต่ราคาหุ้นจะขยับขึ้นๆ ลงๆ สลับกัน แต่จะเห็นว่าเวลาหุ้นปรับตัวขึ้นจะเป็นการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและชั่วคราว จากนั้นราคาหุ้นจะมีการปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ลงไปเรื่อยๆ จึงทำให้เห็นภาพกราฟราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาลง ดังน้ันตลอดช่วงเวลาที่หุ้นยังเป็นทิศทางขาลง ถ้าเราเลือกที่จะซื้อหุ้นเราจะต้องขายหุ้นได้ในจังหวะที่ดีจริงๆ ตอนที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นชั่วคราวถึงจะได้กำไร และผลกำไรที่ได้ก็จะเป็นกำไรที่ไม่มาก ถ้าขายหุ้นไม่ได้ในจังหวะที่ดี พอราคาหุ้นกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งจะทำให้เราเกิดผลขาดทุนในที่สุด แต่ถ้าเราเลือกอยู่ฝั่ง Short หุ้น ถึงแม้ว่าเราจะ Short หุ้นผิดจังหวะ หลังจากที่ Short หุ้นไปแล้วราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็จะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่สุดท้ายราคาก็จะปรับตัวลดลงต่อและทำให้เราสามารถซื้อหุ้นคืนในราคาที่ต่ำลงเพื่อทำกำไรได้

3) และช่วงเวลาที่กราฟราคาหุ้นเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงแบบแนวโน้มไม่ชัดเจน หรือ Sideways การเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร หรือหันไปเลือกซื้อหุ้นตัวอื่นที่มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้นชัดเจนก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

สรุปแนวทางในการใช้งานเส้น EMA

     แนวทางการใช้งานเส้น EMA ขั้นตอนแรกให้เลือกกราฟเส้น EMA โดยกำหนดค่าในการคำนวณเส้น EMA จากราคาหุ้นย้อนหลังมากหรือน้อยให้เหมาะกับสไตล์การซื้อขายหุ้นและระยะเวลาในการที่คิดว่าจะถือหุ้น เช่น แต่ถ้าสไตล์การซื้อขายหุ้นของเราเป็นการซื้อขายหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นก็ให้เลือกระยะเวลาที่นำราคาหุ้นมาคำนวนย้อนหลังสั้นๆ แต่ถ้าสไตล์การซื้อขายหุ้นเป็นการซื้อแล้วถือหุ้นในกลางหรือระยะยาวก็ให้เลือกระยะเวลาที่นำราคาหุ้นคำนวณย้อนหลังที่นานขึ้น

      ขั้นตอนต่อมาคือการพิจารณาว่าลักษณะที่เกิดขึ้นของกราฟราคาหุ้น และเส้น EMA มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร

     ถ้าเราเห็นว่า 1) กราฟราคาหุ้นอยู่เหนือเส้น EMA หรือ 2) เส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว หรือ 3) เส้น EMA มีความชันเฉลียงขึ้น แปลความหมายได้ว่า มีโอกาสสูงที่ราคาหุ้นกำลังอยู่ในแนวโน้มทิศทางขาขึ้น สิ่งที่ควรทำคือ “หาจังหวะซื้อหุ้น” และ “ห้าม Short หุ้น”

      แต่ถ้าเราเห็นว่า 1) กราฟราคาหุ้นอยู่ใต้เส้น EMA หรือ 2) เส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว หรือ 3) เส้น EMA มีความขันที่เฉียงลง แปลว่าแนวโน้มทิศทางของราคาแต่ถ้าทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นขาลง เราก็จะไม่ซื้อหุ้นหรือพยายามหาจังหวะ Short หุ้น

     แต่ !!!! ผมไม่ได้หมายความว่าเมื่อกราฟราคาหุ้นและเส้น EMA มีลักษณะดังกล่าว ให้เราลงมือซื้อหุ้นขายหุ้นได้ทันที หรือเราสามารถจะซื้อขายหุ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์เส้น EMA จะเป็นข้อมูลให้ตัดสินใจว่าเราควรจะเลือกอยู่ฝั่งที่เป็นฝั่งซื้อหุ้น หรือฝั่งขายหุ้น เพื่อให้ได้โอกาสกำไรมากกว่าโอกาสขาดทุนเท่านั้น จากนั้นเราต้องหาจังหวะลงมือซื้อหุ้นที่ดีจากการวิเคราะห์เครื่องมือทางเทคนิคประเภทอื่นต่อไป เช่น การวิเคราะห์แนวรับแนวต้าน หรือการวิเคราะห์กราฟแท่งเทียน เป็นต้น

DaddyTrader มีเทคนิคในการใช้งานเส้น EMA ยังไง?

            เทคนิคส่วนตัวเวลาที่ผมซื้อขายหุ้น ผมจะเลือกใช้งานเส้น EMA 2 พร้อมๆ กัน ได้แก่ เส้น EMA 10 วัน และ เส้น EMA 50 วัน (เส้น EMA 10 วัน (2สัปดาห์) และ เส้น EMA 50 วัน (2 เดือน) เป็นเส้นที่เหมาะกับสไตล์การซื้อขายหุ้นส่วนตัวและระยะเวลาในการถือหุ้นที่ผมสบายใจ จึงเป็นเส้น EMA ที่ผมคุ้นเคยและใช้หาจังหวะซื้อขายหุ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่ผมมักจะมีระยะเวลาการถือหุ้นก่อนขายทำกำไรประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป โดยผมจะวาดเส้น EMAควบคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้น เพื่อเป็น Indicators ที่ช่วยเสริมความมั่นใจในการซื้อหุ้น หรือเป็น Indicators ที่ใช้ห้ามไม่ให้ลงมือซื้อหุ้น ถ้าผมกำลังสนใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งและคิดว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะลงมือซื้อหุ้นตัวนี้แล้ว ผมจะตรวจสอบว่า ณ ขณะนั้น เส้น EMA 10 อยู่เหนือเส้น EMA 50 หรือไม่ ถ้าเส้น EMA 10 อยู่เหนือเส้น EMA 50 ก็ถือว่าเส้น EMA สนับสนุนการลงมือซื้อหุ้น ผมก็จะลงมือซื้อหุ้นในครั้งนี้ แต่ถ้าเส้น EMA 10 อยู่ต่ำกว่าเส้น EMA 50 ผมก็จะถือว่าเส้น EMA ไม่สนับสนุนการลงมือซื้อหุ้นครั้งนี้ ผมก็จะไม่ซื้อหุ้น


ตัวอย่างรูปแสดงให้เห็น ณ ขณะที่ตัดสินใจกำลังจะซื้อหุ้น และเส้น EMA 10 อยู่เหนือเส้น EMA 50 เป็นการสนับสนุนการตัดสินใจให้ลงมือซื้อหุ้น


ตัวอย่างรูปแสดงให้เห็น ณ ขณะที่ตัดสินใจกำลังจะซื้อหุ้น และเส้น EMA 10 อยู่ใต้เส้น EMA 50 ไม่รสนับสนุนการตัดสินใจให้ลงมือซื้อหุ้น จึงไม่ซื้อหุ้น

            จากเทคนิคส่วนตัวขอผม ผมจะใช้เส้นงานเส้น EMA 2 เส้น คือ EMA 10 และ EMA 50 ควบคู่กับกราฟของราคาเพื่อดูว่าเส้น EMA สนับสนุนให้ลงมือซื้อหุ้นในครั้งนั้นๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามผมไม่แนะนำให้ทุกคนใช้ เส้น EMA 10 และเส้น EMA 50 คู่นี้ ในการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้น เนื่องจากเส้น EMAคู่นี้ไม่ได้เป็นเส้น EMA ที่เหมาะกับทุกคน เพราะแต่ละคนควรจะทดลองหาเส้น EMA ซึ่งเป็นคู่ที่เหมาะสมกับตัวเอง

     มีข้อแนะนำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนวันที่ใช้คำนวณเส้น EMA กับสไตล์การเล่นหุ้นหรือระยะเวลาในการถือหุ้น คือ จำนวนวันที่ใช้ในการคำนวณเส้น EMA จะแปรผันตรงกับระยะเวลาที่เราถือหุ้นนั้นๆ เช่น ถ้าเราซื้อขายหุ้นเร็วหรือถือหุ้นระยะสั้นๆ ก็ให้เลือกใช้จำนวนวันย้อนหลังที่ใช้คำนวณ EMA ที่น้อย แต่ถ้าเราซื้อขายหุ้นที่ไม่บ่อย หรือถือหุ้นระยะเวลานานๆ ก็ให้เลือใช้จำนวนวันย้อนหลังที่คำนวณเส้น EMA ที่มากขึ้น


ถ้าใครสนใจจะใช้งานเส้น EMA มากกว่า 2 เส้นพร้อมๆ กันก็สามารถที่จะทำได้ครับ แต่ผมแนะนำให้ใช้แนวทางเดียวกันกับที่ผมใช้งานอยู่ในการตัดสินใจลงมือซื้อหรือขายหุ้น เช่น ใช้งานเส้น EMA 3 เส้นพร้อมกัน เช่น EMA 5 วัน, EMA 10 วัน และ EMA 25 วัน และจะลงมือซื้อขายหุ้น ก็ต่อเมื่อเส้น EMA 5 วัน อยู่เหนือเส้น EMA 10 วัน และเส้น EMA 10 วันต้องอยู่เหนือเส้น EMA 25 วันตามลำดับ แล้วเท่านั้นเป็นต้น

คำถามที่ถูกถามบ่อยมากๆ เกี่ยวกับเส้น EMA คือ จะเลือกใช้เส้น EMA กี่วันถึงจะดีที่สุด?

     คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่ถูกถามตลอดเวลาครับ คำตอบก็คือ ไม่มีเส้น EMA เส้นไหนที่ดีที่สุด หรือจะดีกว่าเส้นอื่นๆ มีแต่เส้น EMA ที่เหมาะสมกับสไตล์การซื้อขายและระยะเวลาการถือหุ้นของแต่ละบุคคล ดังนั้นผมจึงไม่สามารถบอกได้ว่าเส้น EMA เส้นไหนจะดีที่สุด หน้าที่ของแต่ละคน คือ ต้องทดลองใช้และลองปรับจำนวนวันให้เหมาะสมไสตล์ของเราเอง เมื่อเราได้ทดลองใช้งานเส้น EMA ไปสักพักเราจะค่อยๆ คุ้นเคยและรู้เองครับว่าเส้น EMA เส้นไหนที่เหมาะสมกับเรา ข้อแนะนำที่อยากจะฝากไว้ คือ เลือกใช้เส้น EMA ตามคนอื่นนั้นมักจะไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการซื้อขายหุ้น เพราะอาจจะไม่เหมาะกับสไตล์ของเราก็ได้

ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้สำหรับมือใหม่ที่อยากจะหาเส้น EMA ที่เหมาะสมกับตัวเองแต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกจำนวนวันย้อนหลังเท่าไหร่ดี ให้ลองเริ่มต้นด้วยจำนวนวันของเส้น EMA ที่ได้รับความนิยมและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ 5 วัน, 10 วัน, 20 วัน, 25 วัน, 40 วัน, 50 วัน, 75 วัน, 200 วัน ซึ่งมีข้อสังเกตคือ จำนวนวันดังกล่าวจะเป็นจำนวนทำการในรอบสัปดาห์ หรือ เดือน หรือไตรมาส ยกตัวอย่างเช่น
1) เส้น EMA 5 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 5 วันทำการ หรือ 1 สัปดาห์
เส้น EMA 10 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 10 วันทำการ หรือ 2 สัปดาห์ หรือ ประมาณครึ่งเดือน
เส้น EMA 20 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 20 วันทำการ หรือ 4 สัปดาห์ หรือ เกือบๆ 1 เดือน
เส้น EMA 25 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วันทำการ หรือ ประมาณ 1 เดือน
เส้น EMA 40 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 40 วันทำการ หรือ 8 สัปดาห์ หรือ เกือบๆ 2 เดือน
เส้น EMA 50 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 50 วันทำการ หรือ ประมาณ 2 เดือน
เส้น EMA 75 วัน เปรียบเสมือนการคิดเฉลี่ยย้อนหลัง 75 วันทำการ หรือ ประมาณ 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาส
เส้น EMA 200 วัน คือตัวเลขกลมๆของจำนวนวันประมาณ 3 ไตรมาส

     มีข้อสังเกตุที่ผมจะให้ไว้เป็นข้อมูลสำหรับเปรียบเทียบว่าจะเริ่มทดลองด้วยเส้นระยะเวลากี่วันดี คือ เส้น EMA ที่ผมใช้งานอยู่พร้อมๆกัน คือ เส้น EMA 10 และเส้น EMA 50 ซึ่งผมจะมีระยะเวลาในการซื้อหุ้นแล้วถือไปประมาณ 2-3 เดือนหรือมากกว่านั้น ดังนั้นถ้าใครต้องการถือหุ้นระยะสั้นกว่าผม ก็อาจจะทดลองใช้งานเส้น EMA 2 เส้นพร้อมกันที่เส้นหนึ่งระยะสั้นกว่าเส้น EMA 10 และอีกเส้นหนึ่งระยะสั้นกว่าเส้น EMA 50 เช่นเส้น EMA 5 พร้อมหกับเส้น EMA 25 เป็นต้น สำหรับใครที่ถือห้นระยะยาวมากๆ ก็ให้ลองเลือกเส้น EMA ที่ระยะยาวขึ้น

“ EMA เหมาะที่จะใช้เป็น Filter
ไม่เหมาะสำหรับใช้เป็น Trigger ”

     โดยสรุป คือ EMA เหมาะที่จะใช้เพื่อเป็นตัวกรองและสนับสนุนการวิเคราะห์กราฟของราคา แต่ไไม่เหมาะที่จะใช้สัญญาณการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันของเส้น EMA เพื่อเป็นสัญญาณสำหรับลงมือซื้อขายหุ้น

     บทความตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายที่เกี่ยวกับ EMA ที่มีด้วยกันทั้งหมด 3 ตอน ในตอนแรก "ทำความรู้จัก EMA" ผมได้แนะนำให้รู้จักวิธีการคำนวณ EMA และลักษณะสำคัญของเส้น EMA ในตอนที่ 2 "วิธีใช้งาน EMA ที่ไม่ถูกต้อง" ผมยกตัวอย่างวิธีการใช้งานเส้น EMA ที่ผิดวิธีแต่กลับถูกแนะนำให้ใช้งานอย่างแพร่หลาย และในตอนสุดท้ายผมได้แนะนำวิธีการใช้งานเส้น EMA ที่ถูกต้อง สำหรับซีรีย์ 3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิคในตอนต่อไป ผมจะมาแนะนำให้รู้จักสุดยอด Indicators ตัวที่สอง นั้นก็คือ MACD (Moving Average Convergence Divergence) หวังว่าทุกคนจะยังติดตามผลงานกันต่อนะครับ และถ้าใครมีคำถามสงสัยสามารถคอมเมนท์ ถามได้ครับ ยินดีตอบคำถามให้ทุกคนครับ บ๊ายบายยยย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่12)

3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 11 “4 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ Indicators” by เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน ,Jul 1, 2015 12:55 PM writer of บทความ...