วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่2)

ตอนที่ 2 ทำความรู้จัก EMA [ซีรี่ย์การลงทุน 3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค]
Share on Facebook
          ในบทความตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำให้รู้จักกันว่า Indicators คืออะไร และมีวิธีการแสดงข้อมูล Indicators ด้วยกราฟแบบไหนบ้าง พร้อมทั้งอธิบายประโยชน์ของการวิเคราะห์ Indicators ว่าให้ข้อมูลอะไรกับเราบ้าง

          ในตอนที่ 2 ของซีรี่ย์นี้ผมจะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับสุดยอด Indicators ตัวแรก นั่นก็คือ  เส้น Moving Average (MA) หรือภาษาไทยเรียกว่า เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งเป็น Indicators ที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุดและถูกนำไปใช้งานเพื่อช่วยตัดสินใจซื้อขายหุ้นอย่างแพร่หลาย ผมมั่นใจสุดๆ ครับว่าไม่มีใครที่วิเคราะห์ทางเทคนิคนิคเพื่อตัดสินใจซื้อหุ้นโดยที่ไม่ใช้งานเส้น Moving Average เพื่อเป็น Indicators ช่วยประกอบการตัดสินใจ เพราะการใช้งานง่ายและประสิทธิภาพของ Moving Average โดยส่วนตัวผมจึงยกให้ Moving Average เป็นสุดยอด Indicators ในดวงใจลำดับที่ 1 ที่จะต้องมีไว้อยู่ในกราฟเวลาวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคตลอดเวลา

ในโปรแกรมวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นทุกโปรแกรมจะมี Moving Average ให้เลือกใช้งานมากมายหลากหลายประเภท ยกตัวอย่างประเภท Moving Average ที่พบเห็นบ่อยๆ เช่น Simple Moving Average (SMA), Weighted Moving Average (WMA),และ Exponential Moving Average (EMA) เป็นต้น แต่ตลอดบทความนี้ผมจะเจาะลึกและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ EMA (Exponential Moving Average) เป็นหลัก เพราะว่า EMA เป็นประเภทที่มีคนใช้งานมากที่สุดและได้รับความนิยมสูงที่สุด ในขั้นแรกผมจะให้เรารู้จักกับ Moving Average กันก่อนครับว่ามันคืออะไร มีวิธีการคำนวณอย่างไร และมีการแสดงผลเพื่อนำมาวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วยวิธีไหน

 ทำความรู้จักกับ Moving Average

          Moving Average (MA) หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ เป็นการคำนวณค่าเฉลี่ย (Average) ของราคาหุ้น โดยใช้ข้อมูลของราคาหุ้นย้อนหลังตามที่ระยะเวลาที่เรากำหนด เช่น ถ้าเราสนใจค่าของ Moving Average ระยะเวลาย้อนหลัง 5 วัน เราจะใช้ราคาหุ้น 5 วันย้อนหลังนับจากวันปัจจุบัน มาคำนวณด้วยสูตรของค่าเฉลี่ยประเภทที่เราสนใจ หรือถ้าเราสนใจ Moving Average ระยะเวลาย้อนหลัง 10 วัน ก็หมายความว่าเราจะใช้ราคาหุ้น 10 วันย้อนหลังนับจากวันปัจจุบัน มาคำนวณด้วยสูตรค่าเฉลี่ยที่เราสนใจ ซึ่งข้อมูลราคาหุ้นที่นิยมนำมาใช้คำนวณค่า Moving Average คือ ราคาปิดของหุ้นของช่วงระยะเวลาที่เราสนใจ

          แต่เนื่องจากค่าเฉลี่ยเพียงค่าเดียวไม่สามารถให้ข้อมูลที่เพียงพอกับการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค ดังนั้นวิธีการแสดงผลของ Moving Average จึงคำนวณค่าเฉลี่ยออกมาจำนนวนหลายๆ ค่า โดยจะคำนวณค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นย้อนหลังค่าใหม่ เมื่อมีข้อมูลของราคาตัวใหม่เพิ่มขึ้นมา และวาดกราฟเของ Moving Average ออกมาเป็นกราฟเส้นที่มีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า(Moving) โดยการเรียงข้อมูลค่าเฉลี่ยที่คำนวณได้ต่อเนื่องกัน และวาดควบคู่กันไปกับกราฟของราคา จึงเป็นที่มาของคำว่า “Moving Average”

ตัวอย่าง ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณค่า Moving Average (MA) ระยะเวลาย้อนหลัง 5 วัน


 
วันที่ราคาปิดของวันข้อมูลที่ใช้คำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะเวลา 5 วัน
1C1-
2C2-
3C3-
4C4-
5C5C1,C2,C3,C4,C5   MA ของ วันที่ 5 คำนวณจากข้อมูลราคาปิดของหุ้นในวันที่ 1-5
6C6C2,C3,C4, C5,C6  MA ของ วันที่ 6 คำนวณจากข้อมูลราคาปิดของหุ้นในวันที่ 2-6
7C7C3,C4, C5,C6,C7  MA ของ วันที่ 7 คำนวณจากข้อมูลราคาปิดของหุ้นในวันที่ 3-7
8C8C4, C5,C6,C7,C8  MA ของ วันที่ 8 คำนวณจากข้อมูลราคาปิดของหุ้นในวันที่ 4-8
หมายเหตุ : ในบทความนี้ผมจะไม่อธิบายสูตรและวิธีการคำนวณ SMA, WMA, EMA แต่ ประเด็นหลักของความแตกต่างของ MA ทั้ง 3 ประเภทคือ สูตรคำนวณของ SMA EMA และ EMA จะให้น้ำหนักของข้อมูลแต่ละตัวที่นำมาคำนวณค่าเฉลี่ยที่ไม่เหมือนกัน หากใครสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสูตรและวิธีกการคำนวณ SMA, WMA, และ EMA ผมแนะนำให้ลองอ่านตาม Link นี้ครับ

 
รูปตัวอย่างแสดงกราฟเส้น EMA คำนวณจากระยะเวลาเวลาย้อนหลัง 25 วัน โดยคำนวณค่าเฉลี่ยด้วยสูตรของ EMA ออกมาหลายๆ ค่ามาเรียงกันอย่างต่อเนื่อง และวาดเป็นกราฟเส้นควบคู่กับกราฟแท่งเทียนของราคาหุ้น

ลักษณะสำคัญของเส้น Moving Average

          เมื่อเราคำนวณค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นออกมาหลายๆ ค่า หลังจากนั้นเอาค่าเฉลี่ยเหล่านั้นมาเรียงต่อกันและวาดออกมาเป็นกราฟเส้น Moving Average (MA) หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ควบคู่กับกราฟของราคาหุ้น จะมีลักษณะสำคัญของเส้น MA ที่เป็นข้อสังเกตที่ควรรู้ คือ

1) เวลาที่วาดเส้น MA ควบคู่กันไปกับกราฟของราคาหุ้น จะเห็นได้ว่ากราฟของเส้น MA จะดูเรียบง่าย (Smooth) กว่ากราฟของราคาหุ้นที่มีลักษณะผันผวน ยึกยัก ขึ้นลง มากกว่า การวาดกราฟเส้นของ MA เลยเปรียบเหมือนกับการจำลองกราฟการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นโดยตัดความผันผวนของราคาออกไปบางส่วน ทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นในรูปแบบที่ง่ายขึ้น

รูปแสดงตัวอย่างเมื่อวาดกราฟเส้น MA ควบคู่กับกราฟราคาหุ้นจะพบว่า กราฟเส้น MA จะทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้ง่ายขึ้นกว่าดูกราฟราคาหุ้น

2) เวลาที่เส้น MA ถูกวาดควบคู่กันไปกับกราฟของราคาหุ้น กราฟเส้นของ MA จะเคลื่อนที่ติดตามกราฟการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น และมีทิศทางเดียวกันกับทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น แต่จะเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงช้ากว่ากราฟของราคา จากคุณสมบัติข้อนี้ของเส้น MA จึงทำให้นักเทคนิคใช้เส้น MA เพื่อระบุว่าทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น ณ ปัจจุบันอยู่ในทิศทางขาขึ้นหรือขาลง ทำให้เส้น MA ถูกเรียกว่าเป็น Indicators ประเภท Trend Following Indicator (คอยติดตามแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น)



รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ากราฟเส้นของ MA จะเคลื่อนที่ติดตามกราฟของราคาหุ้น แต่เคลื่อนที่ช้ากว่ากราฟราคาหุ้น


รูปแสดงลักษณะสำคัญของ EMA คือ 1) เรียบง่าย (Smooth)กว่ากราฟของราคาหุ้น 2) ทิศทางการเคลื่อนที่ของ EMA จะมีทิศทางเดียวกัน และติดตามการเคลื่อนที่ของกราฟราคาหุ้น (Trend Following Indicator) แต่จะเคลื่อนที่ช้ากว่า

3) เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังสั้นกว่า จะเคลื่อนที่ติดตามกราฟราคาหุ้นได้ใกล้ชิดและเร็วกว่าเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังนานกว่า เช่น เส้น EMA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลัง 10 วันจะติดตามการเคลื่อนที่ของกราฟราคาหุ้นได้เร็วกว่า เส้น EMA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลัง 25 วัน เป็นต้น


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเส้น EMA ที่คำนวณด้วยจำนวนวันย้อนหลัง 10 วัน (สีขาว), 25 วัน (สีฟ้า) และ 75วัน (สีม่วง) และวาดควบคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้นพร้อมๆ กัน จะเห็นได้ว่า เส้น EMA 10 วัน (สีขาว) ซึ่งคำนวณจากรยะเวลาย้อนหลังสั้นที่สุดจะติดตามกราฟราคาหุ้นได้ใกล้ชิดและเร็วที่สุด และเส้น EMA 75 วัน (สีม่วง) ซึ่งคำนวณจากรยะเวลาย้อนหลังยาวที่สุดจะติดตามกราฟราคาหุ้นได้ช้าที่สุดในบรรดาเส้น EMA ทั้ง 3 ตัว

4) ในช่วงที่ราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น กราฟของราคาหุ้นมักจะอยู่เหนือเส้น MA และ เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังที่สั้นกว่าจะอยู่เหนือเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังยาวกว่า


รูปตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น MA ขณะที่กราฟของราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้น

5) ในทางกลับกันในช่วงที่ราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง กราฟของราคาหุ้นมักจะอยู่ใต้เส้น MA และ เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังที่น้อยกว่าจะอยู่ใต้เส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังยาวกว่า


รูปตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น MA ขณะที่กราฟของราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง

6) แต่ถ้าราคาหุ้นอยู่ในช่วงที่ไม่มีทิศทางของแนวโน้ม หรือแนวโน้มไม่ขึ้นไม่ลงอย่างชัดเจน (Sideways) ราคาหุ้นบางทีก็อยู่เหนือเส้น MA บางทีก็อยู่ใต้เส้น MA สลับไปมาหรือถ้าสังเกตจะเห็นว่าเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังที่สั้นกว่า ก็จะตัดเส้น MA ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลังยาวกว่า ขึ้นๆลงๆ สลับไปมา


รูปตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น MA ขณะที่กราฟของราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็น Sideways


คำถามที่ถูกถามบ่อยๆ คือ “SMA, WMA, และ EMA ตัวไหนดีกว่ากัน?”

          คำถามนี้เป็นยอดฮิตที่ใครๆ ก็สงสัยครับ แถมยังมีการพยายามทำการทดลองมากมายเพื่อตอบคำถามว่า MA ชนิดไหนจะใช้งานได้ดีกว่ากัน แต่คำตอบที่ได้ก็คือ SMA WMA และ EMA คุณจะเลือกใช้งาน MA ชนิดไหนก็ได้ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าตัวไหนดีที่สุดหรือบอกว่าตัวไหนที่ดีกว่าตัวอื่นๆ

          แต่ถ้าจะให้จัดลำดับความนิยมของ MA ทั้ง 3 ประเภท EMA จะเป็นประเภทของ MA ที่มีคนนิยมใช้งานกันมากที่สุด รองลงมาคือ SMA และ MA ที่มีคนนิยมใช้น้อยที่สุด คือ WMA ดังนั้นเมื่อมีใครถามผมว่าควรจะใช้งาน MA ประเภทไหนดี ผมจะแนะนำให้ใช้ EMA ด้วยเหตุผลว่ามีคนนิยมใช้งานมากที่สุดนั่นเอง แต่ว่าใครจะชอบใช้ SMA หรือ WMA ก็ไม่มีอะไรเสียหายครับ สามารถเลือกใช้งานได้ตามความชอบส่วนบุคคล



รูปแสดงกราฟ SMA, WMA, และ EMA ที่คำนวณจากข้อมูลของราคาหุ้นระยะเวลาย้อนหลัง 25 วันเท่ากัน สาเหตุที่ทำให้เส้น MA ทั้ง 3 ประเภทถูกวาดออกมาแตกต่างกัน เนื่องจากสูตรการคำนวณของ MA แต่ละประเภทให้น้ำหนักของข้อมูลในอดีตที่ไม่เท่ากัน

          มีข้อสังเกตจากรูปตัวอย่างที่มีการวาดเส้น SMA, WMA, และ EMA ควบคู่ไปกับกราฟราคาหุ้นพร้อมๆ กัน คือ สูตรคำนวณ EMA จะคำนวณโดยให้น้ำหนักของข้อมูลที่ทันสมัยมากกว่า SMA ซึ่ง SMA นั้นให้น้ำหนักของข้อมูลทุกตัวเท่าๆกัน จึงเห็นได้ว่าเส้น EMA จะติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้ใกล้ชิดกว่าเส้น SMA ที่คำนวณจากข้อมูลย้อนหลังเท่ากัน  ส่วนเส้น WMA ไม่ค่อยถูกนำมาเปรียบเทียบและไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักเนื่องจากมีคนใช้งานน้อย

หมายเหตุ : การที่เส้น EMA ติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้ดีกว่าเส้น SMA นั้น ไม่ได้แปลว่า EMA จะนำไปใช้งานเพื่อตัดสินใจซื้อขายแล้วจะได้กำไรมากกว่าหรือมีความถูกต้องบ่อยกว่า ข้อสังเกตนี้เป็นเพียงต้องการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเส้น MA ทั้งสองประเภทเท่านั้น

          สำหรับบทความในตอนนี้หวังว่าทุกคนคงจะรู้จักวิธีการคำนวณ MA วิธีการแสดงผลของเส้น MA ลักษณะสำคัญของเส้น MA และความแตกต่างของเส้น MA ประเภทต่างๆ ซึ่งผมแนะนำเลือกให้เลือก EMA มาเป็น Indicator ในการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคก็เนื่องจาก เป็นประเภทของเส้น MA ที่มีคนใช้งานมากที่สุด ในตอนต่อไปผมจะแนะนำวิธีการนำเส้น EMA ไปใช้งานที่ไม่ถูกต้องแต่เป็นวิธีที่ถูกแนะนำกันอย่างแพร่หลาย จากนั้นผมจะแนะนำวิธีใช้งานเส้น EMA ที่ถูกต้องว่าควรนำเส้น EMA ไปใช้งานอย่างไร

          เนื่องจากบทความตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปเนื้อหาจะค่อนข้างเจาะลึก และใช้คำศํพท์ทางเทคนิคที่มือใหม่อาจจะไม่คุ้นเคย ถ้าหากมีคำถามหรือข้อสงสัย สามารถ Comment ไว้ที่ท้ายบทความได้ครับ ผมยินดีตอบทุกท่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่12)

3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 11 “4 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ Indicators” by เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน ,Jul 1, 2015 12:55 PM writer of บทความ...