วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่3)

3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 3 "วิธีใช้งาน EMA ที่ไม่ถูกต้อง"
Share on Facebook
      สวัสดีครับบทความตอนนี้ก็เป็นตอนที่ 3 แล้ว เนื้อหาของตอนนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับ EMA (Exponential Moving Average) ซึ่งก่อนที่ผมจะแนะนำวิธีการแปลความหมายของกราฟเส้น EMA และการนำกราฟเส้น EMA ไปใช้งานเพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นที่ถูกต้อง ผมขอเริ่มต้นจากวิธีการนำ EMA ไปใช้งาน ที่ไม่ถูกต้อง  แต่กลับเป็นวิธีที่ถูกแนะนำให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และถ้าใครนำวิธีนี้ไปใช้ตัดสินใจซื้อขายหุ้นผมมั่นใจครับว่าคุณจะไม่ประสบความสำเร็จในการซื้อขายหุ้นอย่างแน่นอน

     วิธีที่ไม่ถูกต้องในการนำเส้น EMA ไปใช้งาน คือ ลงมือซื้อหรือขายหุ้นโดยใช้เงื่อนไขของการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือ การตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังไม่เท่ากัน เช่น

1) ลงมือซื้อหุ้นเมื่อเห็นว่ากราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป
2) ลงมือขายหุ้นเมื่อเห็นว่ากราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา


รูปแสดงตัวอย่างการลงมือซื้อหรือขายหุ้นที่ไม่ถูกต้องจากการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA

 


รูปตัวอย่างแสดงวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ในการนำ MA ไปใช้งาน โดยลงมือขายหุ้นเมื่อกราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา และซื้อหุ้นเมื่อกราฟของราคาตัดเส้น EMA ขึ้นไป

3) ลงมือซื้อหุ้นเมื่อเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าขึ้นไป


รูปแสดงตัวอย่างการลงมือซื้อหุ้นที่ไม่ถูกต้องโดยใช้เงื่อนไขที่เส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าขึ้นไป

 4) ลงมือขายหุ้นเมื่อเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าลงมา

 รูปแสดงตัวอย่างการลงมือขายหุ้นที่ไม่ถูกต้องโดยใช้เงื่อนไขที่เส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าลงมา


รูปตัวอย่างแสดงวิธีการที่ไม่ถูกต้องในการนำใช้งานเส้น EMA 2 เส้น โดยลงมือขายหุ้นเมื่อเส้น EMA ระยะเวลาสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ระยะเวลายาวกว่าลงมา และซื้อหุ้นเมื่อเส้น EMA ระยะเวลาสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ระยะเวลายาวกว่าขึ้นไป  

     ข้อสังเกตเกี่ยวกับราคาที่ลงมือซื้อหรือขายหุ้นจากการตัดกันของเส้น EMA 2 เส้นที่หลายคนมักจะเข้าใจผิด คือ เวลาที่ดูกราฟหุ้นพร้อมกับเส้น EMA 2 เส้นมักจะเข้าใจว่าราคาที่จะซื้อหรือขายหุ้นได้จะเป็นราคา ณ จุดที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน แต่ความจริงแล้วเราไม่สามารถซื้อหรือขายหุ้นได้ที่ราคาที่เป็นจุดตัดของเส้น EMA ทั้ง 2 เส้น

      จากรูปตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าราคาที่จะซื้อหรือขายหุ้นได้จะไม่ใช่ราคา ณ จุดที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน แต่จะเป็นราคาหุ้นที่มีซื้อขายในวันนั้นๆ ซึ่งในวันที่เส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา แล้วเราต้องการขายหุ้น ราคาที่ซื้อขายกันในวันนั้นมักจะอยู่ต่ำกว่าราคาที่จุดตัดของเส้น EMA 2 เส้น ดังนั้นเราจึงมักจะขายหุ้นได้ในราคาที่ถูกกกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน  และในวันที่เส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป แล้วเราต้องการซื้อหุ้น ราคาที่ซื้อขายกันในวันนั้นก็มักจะอยู่สูงกว่าราคาที่จุดตัดของเส้น EMA 2 เส้น ดังน้้นเราจึงมักจะซื้อหุ้นได้ในราคาที่แพงกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าราคาที่ลงมือขายหุ้นได้จะต่ำกว่าราคา ณ จุดที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน และราคาที่จะลงมือซื้อหุ้นได้จะอยู่สูงกว่าราคา ณ จุดที่ที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน

เคยซื้อขายหุ้นด้วยวิธีนี้แล้วได้กำไรนี่นา แต่ทำไม DaddyTrader ถึงบอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ?

     ที่ผมแนะนำว่าไม่ควรตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจากเงื่อนไข 1) กราฟราคาหุ้นตัดกับเส้น EMA หรือ 2) การตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เนื่องจากมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการใช้งานเส้น EMA ด้วยวิธีนี้ คือ บางครั้งก็นำไปใช้ซื้อขายหุ้นแล้วได้กำไรแต่บางครั้งก็ขาดทุน และถ้าใช้เงื่อนไขของเส้น EMA เพียงเงื่อนไขเดียวในการตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจะไม่ให้ผลกำไรที่ดีในระยะยาวเผลอๆ อาจจะขาดทุนเสียด้วยซ้ำ

     มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งานเส้น EMA ที่เราควรทราบ คือ การที่จะลงมือซื้อหรือขายหุ้นด้วยโดยใช้เงื่อนไขการตัดกันของกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เพียงเงื่อนไขเดียวแล้วจะได้กำไรหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับว่าทิศทางของแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นหลังจากการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เป็นอย่างไร และแนวโน้มของราคาหุ้นจะมีความชัดเจนต่อเนื่องขนาดไหน

     ถ้าการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นมีทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องหลังจากที่กราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA หรือหลังจากที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางแนวโน้มขาขึ้นหรือแนวโน้มขาลงก็ได้ วิธีการนี้จะสามารถนำไปใช้ซื้อขายหุ้นแล้วได้กำไรเป็นอย่างดี

      แต่ถ้าทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ราคาของหุ้นไม่ชัดเจน คือ ไม่ขึ้นไม่ลง หรือที่เราเรียกว่า Sideways โดยเคลื่อนที่สลับขึ้นๆ ลงๆ เป็นฟันปลา วิธีใช้งานเส้น EMA แบบนี้จะเกิดสัญญาณหลอกให้ซื้อๆ ขายๆ บ่อยครั้งแต่ไม่ได้กำไร หรืออาจทำให้ขาดทุนได้


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อแนวโน้มราคามีแนวโน้มเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องและชัดเจน การที่เส้น EMA ระยะสั้น ตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา ช่วยให้เราตัดสินใจไม่ซื้อหุ้นในขณะที่ราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อแนวโน้มราคามีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องและชัดเจน การที่เส้น EMA ระยะสั้น ตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป ช่วยให้เราตัดสินใจซื้อหุ้นและถือหุ้นโดยไม่ขายได้ยาวนาน โดยไม่ขายหมูระหว่างทาง


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อทิศทางแนวโน้มราคาไม่ขึ้นไม่ลง(Sideways) การซื้อขายตามสัญญาณการตัดขึ้นลงของเส้น EMA จะทำให้ซื้อๆ ขายๆ หุ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้กำไร

     จากรูปด้านบนผมได้ทดลองขยายภาพในส่วนกรอบสี่เหลี่ยม เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นภาพว่าเราไม่ได้ซื้อหรือขายหุ้นได้ในราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน และถ้าลงมือซื้อขายด้วยเงื่อนไขนี้จะทำให้เกิดผลขาดทุน ถ้ากราฟของราคาหลังจากนั้นไม่ได้มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นหรือขาลงโดยชัดเจน


รูปตัวอย่างขยายให้เห็นราคาที่ซื้อหุ้นและราคาที่ขายหุ้นได้โดยใช้เงื่อนไขการตัดกันของเส้น EMA 2 เส้นเพื่อลงมือซื้อขาย ในภาวะตลาด Sideways จะทำให้เกิดผลขาดทุน และราคาที่ซื้อหุ้นได้จะเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน ส่วนราคาที่ขายหุ้นได้จะต่ำกว่าราคาที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน

     จากภาพตัวอย่าง ผมสมมุติว่าเราลงมือซื้อหุ้นที่ราคาปิดของวันที่เส้น EMA ระยะเวลาย้อนหลัง 10 วัน ตัดเส้น EMA ระยะเวลา 30 วันขึ้นไป และลงมือขายหุ้นที่ราคาปิดของวันที่เส้น EMA ระยะเวลา 10 วันตัดเส้น EMA ระยะเวลา 30 วันลงมา จะเห็นได้ว่าในครั้งแรกที่เส้น EMA ระยะเวลา 10 วันตัดเส้น EMA ระยะเวลา 30 วันขึ้นไป ถ้าเราซื้อหุ้นที่ราคาปิดของวัน (กราฟเส้นสีเหลืองแสดงกราฟราคาปิดของหุ้นในวันนั้นๆ) เราจะซื้อหุ้นที่ราคา 42.5 บาท และถ้าเราลงมือขายเมื่อเส้น EMA ระยะเวลา 10 วันตัดเส้น EMA 30 วันลงมา เราจะขายหุ้นไปในราคาปิดของวันนั้นที่ราคา 40.75 บาท ทำให้ขาดทุน -1.75 บาท ในรอบการซื้อขายหุ้นรอบถัดมาเราจะซื้อหุ้นที่ราคา 42.0 บาท  และขายหุ้นในราคา 40.75 บาท ทำให้ขาดทุน -1.25 บาท

ทำไมการตัดกันระหว่างกราฟของราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นจึงใช้งานได้ไม่ดี?

     จากข้อสังเกตที่ข้างต้นจะเห็นได้ว่าถ้าแนวโน้มโน้มของราคาหุ้นมีความชัดเจนและต่อเนื่องหลังจากที่กราฟหุ้นตัดกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นจะใช้งานได้ดีก็ตาม แต่ยังมีเหตุผลเพิ่มเติมอีก 2 ข้อที่ผมไม่อยากจะแนะนำให้ซื้อขายหุ้นด้วยเงื่อนไขนี้เนื่องจาก

1) เมื่อเกิดการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น ปัญหาสำคัญ คือ ณ ขณะนั้น เราไม่รู้ว่าในอนาคตแนวโน้มของราคาหุ้นหลังจากนี้จะมีทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องหรือไม่ ดังนั้นถ้าเราลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันทีหลังจากที่มีการตัดกันระหว่างราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นแล้ว แต่ราคาหุ้นต่อจากนั้นไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องจะทำให้เราซื้อและขายหุ้นไม่ได้กำไรหรือบางครั้งก็ขาดทุน
2) เมื่อกราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป จะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นมักจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับหนึ่งไปแล้ว จึงมักจะตามมาด้วยการปรับตัวลดลงชั่วคราวของราคาหุ้นในอนาคตอันใกล้ (ทำให้เมื่อเราลงมือซื้อหุ้นทันทีเมื่อราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป แล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลง มักจะทำให้เกิดผลขาดทุนจากการซื้อหุ้นและรู้สึกอึดไม่อยากถือหุ้นต่อ

หมายเหตุ : เหตุการณ์ที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงดลงชั่วคราวหลังจากที่กราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่า  Throw Back (บางคนอาจจะเรียกว่า Pull Back ก็ได้)  ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้พบเจอได้บ่อยมากเวลาที่วิเคราะห์กราฟหุ้นทางเทคนิค แต่อย่างไรเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกครั้งเสมอไป)


รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าวันที่เส้น EMA ระยะสั้น ตัดเส้น EMA ระยะยาวขึ้นไป ราคามักจะขึ้นไปสูงมากและบ่อยครั้งจะตามด้วยราคาปรับตัวลดลงในอนาคตอันใกล้ (Throw Back) ซึ่งทำให้เกิดผลขาดทุนและอึดอัดจนไม่อยากถือหุ้นต่อไป

3) เมื่อกราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา จะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นมักลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้ถ้าเรารอตัดสินใจลงมือขายหุ้นหลังจากที่ราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา หรือเมื่อเส้น EMA ระยะสั้นตัดเส้น EMA ระยะยาวลงมา บ่อยครั้งจะเป็นจังหวะขายหุ้นที่ไม่ดีเพราะช้าเกินไป ทำให้กำไรหดหายไปค่อนข้างมาก ในการขายหุ้นเพื่อทำกำไรจึงนิยมใช้วิธีอื่น หรือหากจะใช้การตัดกันของราคากับเส้น EMA หรือ การตัดกันของเส้น EMA 2 เส้นเพื่อการขายทำกำไร แนะนำใช้ควบคู่กับกลยุทธ์แบ่งขายหลายๆ ส่วน (Multiple Units) โดยใช้สัญญาณของเส้น EMA ในการขายทำกำไรบางส่วน และใช้สัญญาณทางเทคนิคแบบอื่นๆ ขายทำกำไรบางส่วน

     สำหรับบทความในตอนนี้ซึ่งเกี่ยวกับการใช้งานเส้น EMA ที่ไม่ถูกต้องก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ครับ และเตรียมตัวพบกับตอนต่อไปซึ่งเป็นคำแนะนำในการใช้งาน เส้น EMA ที่ถูกวิธี และสุดท้ายขอฝากไว้อีกเช่นเคยครับ หากใครมีข้อสงสัยสามารถคอมเมนท์ถามได้ที่ด้านล่างบทความ หรือจะส่งคำถามผ่านเมนู “ถามกูรู” ได้ครับ ผมยินดีไขข้อข้องใจให้ทุกคนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค(ตอนที่12)

3 ตัวช่วยรวยด้วยหุ้นเทคนิค ตอนที่ 11 “4 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ Indicators” by เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน ,Jul 1, 2015 12:55 PM writer of บทความ...